ทำเอาตื่นตัวเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลกันทุกฝ่าย เมื่อพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือกฎหมาย PDPA มีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและบริหารจัดการข้อมูลพนักงานภายในองค์กรโดยตรงอย่าง HR (ฝ่ายบุคคล) จะมีแนวทางอย่างไรในการเก็บข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และหลักฐานการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับหลัก PDPA วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน

HR อย่าเลื่อนผ่าน จัดการข้อมูลพนักงานอย่างไร เมื่อมี PDPA

หลัก PDPA เบื้องต้นที่ทุกคนควรรู้

PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act 2012 เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีผลบังคับใช้กับทุกองค์กรและหน่วยงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2565 โดยคุ้มครองทั้งข้อมูล บุคคลผู้เป็นเจ้าของข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรวบรวม การใช้งาน การเปิดเผย และการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้องค์กรใด ๆ นำข้อมูลไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม หากมีการละเมิดเกิดขึ้นจะมีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

แล้วข้อมูลพนักงานส่วนไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับ PDPA?

ความคุ้มครองนี้ครอบคลุมทั้งเอกสารในรูปแบบกระดาษ ไฟล์เอกสารในคอมพิวเตอร์ และไฟล์บนระบบ Cloud ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะต้องได้รับการยินยอมจากพนักงานหรือผู้สมัครอย่างครบถ้วน หาก HR บกพร่องแล้วทำให้มีข้อมูลใด ๆ หลุดออกไป ก็ต้องรับโทษทางกฎหมายตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเช่นกัน โดยตัวอย่างของข้อมูลพนักงานที่มักใช้ในการทำงานของ HR ได้แก่

  • ประวัติส่วนตัว ประวัติทางอาชญากร ประวัติครอบครัว และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • ใบสมัครงาน เอกสารสัญญาจ้าง ผลการประเมินช่วงทดลองงานและระหว่างทำงาน
  • เอกสารส่วนตัว เช่น หลักฐานการศึกษา ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน  ใบรับรองการฝึกอบรม
  • ข้อมูลทางบัญชี สลิปเงินเดือน
  • สถิติการเข้างาน ขาด ลา มาสาย
  • ผลการตรวจสุขภาพ

แนวทางปฏิบัติในการจัดการข้อมูลพนักงานที่ HR ห้ามพลาด

เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลของพนักงานตลอดเวลา HR ในทุกองค์กรก็ควรดำเนินการตามแนวทางที่สอดรับกับกฎหมาย โดยมีวิธีปฏิบัติเบื้องต้นได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. ขอความยินยอมจากพนักงานผู้เป็นเจ้าของข้อมูลก่อนเก็บรวบรวมเสมอ โดยระบุชัดเจนว่าให้ข้อมูลนั้นกับใครและเพื่ออะไร
  2. แยกประเภทของข้อมูลพนักงานเพื่อความเป็นระเบียบ ง่ายต่อการบริหารจัดการ นำมาใช้งานต่อ และการดูแลความปลอดภัย
  3. มีนโยบายในการเก็บรักษาและมาตรการทำลายข้อมูลของอดีตพนักงานอย่างชัดเจน รัดกุม
  4. แจ้งพนักงานให้ทราบและแสดงความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้งานทุกรูปแบบ รวมถึงก่อนสังเกตการณ์การทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ อีเมล และโทรศัพท์
  5. วางแผนป้องกันการละเมิดหรือโจรกรรมข้อมูลให้ดี ลดความเสี่ยงข้อมูลของพนักงานรั่วไหลและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้องค์กร

หมายเหตุ – บทความนี้เป็น Advertorial