Derivative Warrant (DW) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนที่นักลงทุนในยุคนี้หลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจ โดยเฉพาะคนที่ซื้อขายหลักทรัพย์อยู่แล้ว หลายคนก้าวเข้ามาซื้อขาย DW เพื่อสร้างโอกาสในการรับผลตอบแทนจากการเคลื่อนไหวราคาสะท้อนราคาของดัชนีอ้างอิงหรือหุ้นแม่ หลายคนใช้ DW เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากการที่หุ้นแม่ราคาลงก็ทำได้เช่นกัน ถ้าเช่นนั้นเรามาติวเข้มกันดีกว่าว่าเวลาที่อ่านค่าราคา DW ในตาราง มีค่าอะไรที่เราต้องรู้จักและทำความเข้าใจกันบ้าง

5-สิ่งที่ต้องรู้เมื่อดูราคา-DW-ค่านี้ในตารางหมายความว่าอย่างไร

Sensitivity

ตัวแรก Sensitivity เป็นค่าที่มีไว้เพื่อบอกว่า หากหุ้นแม่หรือดัชนีอ้างอิงขยับ 1 ช่อง ราคาของ DW จะขยับขึ้นหรือลงกี่ช่อง เพราะฉะนั้นแล้ว การเลือก DW ที่มีค่า Sensitivity สูง ๆ จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป เพราะหากหุ้นแม่ขยับลง Put DW ก็จะลงแรงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น นักลงทุนหลายท่านจึงแนะนำให้เลือกลงทุนใน DW ที่มีค่า Sensitivity ใกล้เคียงกับ 1 เพื่อที่ว่าราคา DW จะได้ขยับสะท้อนหุ้นแม่ได้มากที่สุด

Effective Gearing

อัตราทดหรือ Effective Gearing คืออัตราการเปลี่ยนแปลงของ DW เมื่อหุ้นแม่หรือดัชนีอ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1% เช่น หาก Effective Gearing เป็น 3 หมายความว่า เมื่อหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1% ราคาของ DW จะเปลี่ยนแปลงไป 3% โดยค่านี้ได้มาจากการคำนวณ Delta ซึ่งต้องใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างซับซ้อนมาคำนวณ ซึ่งนักลงทุนอาจจะเห็นค่า Effective Gearing เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาต่าง ๆ ได้

Moneyness

หมายถึงสถานะของ DW ซึ่งเกิดจากการเปรียบเทียบราคาหลักทรัพย์อ้างอิงกับราคาใช้สิทธิ DW โดยมีทั้งสิ้น 3 สถานะ ได้แก่

  • In-the-money กรณี Call DW ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงมากกว่าราคาใช้สิทธิ กรณี Put DW ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงน้อยกว่าราคาใช้สิทธิ
  • At-the-money ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงเท่ากับราคาใช้สิทธิทั้ง Call DW และ Put DW
  • Out-of-the-money กรณี Call DW ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงน้อยกว่าราคาใช้สิทธิ กรณี Put DW ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงมากกว่าราคาใช้สิทธิ

Time Decay

หากแปลตรงตัว Time Decay ก็คือค่าเสื่อมเวลานั่นเอง เพราะเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคา DW เป็นอย่างมาก มูลค่าของ DW จะลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป โดยในตาราง DW จะระบุว่าราคาจะลดลงกี่บาทต่อวัน เพราะฉะนั้นจึงควรเลือกลงทุนใน DW ที่มีค่า Time Decay ต่ำ หากไม่มั่นใจว่าจะรีบซื้อรีบขายได้ เพื่อป้องกันการขาดทุนจากค่าเสื่อมเวลานี้

วันซื้อขายสุดท้าย

วันซื้อขายสุดท้ายเป็นวันในตารางราคา DW ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะก่อนที่ DW จะถึงวันหมดอายุ นักลงทุนจะต้องเจอกับวันทำการซื้อขายสุดท้ายก่อน ซึ่งวันนี้หมายถึงวันสุดท้ายที่นักลงทุนสามารถทำรายการซื้อขายได้ หากพ้นกำหนดวันนี้ไปแล้ว ทางผู้ออก DW จะใช้สิทธิให้โดยอัตโนมัติ และใช้ราคาปิดของหุ้นอ้างอิงในวันดังกล่าวในการคำนวณเงินสดส่วนต่างสุทธิในกรณีที่ DW อยู่ในสถานะ In-the-money หรือนักลงทุนอาจไม่ได้รับเงินอะไรกลับไปเลยหาก DW อยู่ในสถานะ Out-of-the-money

หมายเหตุบทความนี้เป็น Advertorial