Dyson ชื่อนี้การันตีเรื่องการปฎิวัติวงการ และในครั้งนี้มาพร้อมกับ Dyson Lightcycle Desk ด้วยจุดเด่นเป็นโคมไฟที่ดีที่สุดในโลก ไม่น้อยหน้าไปกว่าเครื่องดูดฝุ่นไร้สายหรือพัดลมไร้ใบพัด แต่ทีนี้คุณผู้อ่านอาจคิดอยู่ในใจว่าโคมไฟมันจะมีอะไรนอกจากแสงสว่าง หรือจะแค่เชื่อมต่อแอปพลิเคชันแค่นั้นหรือ ใช่ครับที่กล่าวมาคือหนึ่งในจุดเด่นของเจ้า Lightcycle เครื่องนี้นั่นเอง ด้วยราคาเปิดตัวสูงถึง 18,900 บาท มันต้องมีอะไรมากกว่าดีไซน์ และการสั่งงานเปิดปิดด้วยแอปพลิเคชันครับ!

Dyson Lightcycle Desk

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงรีวิวเรามารู้จักกับสินค้าตัวนี้ก่อน ใช่ครับมันคือโคมไฟให้แสงสว่างแบบที่เรารู้จักกัน โดยตัวนี้ถูกพัฒนาด้วยระยะเวลามากกว่า 2 ปี (ปกติโคมไฟไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่ทำฐานและประกอบหลอดก็จบแล้วครับ) แต่รุ่นนี้มีต้นแบบมากกว่า 892 เครื่อง มีการระดมสมองของวิศวกรร่วม 90 ชีวิต ถือว่าสมกับชื่อแบรนด์ “Dyson” ที่ทำอะไรธรรมดาไม่เป็น ทุกอย่างต้องปฏิวัติวงการ

ตอนได้สินค้ามารีวิวคือตกใจมาก โคมไฟอะไรหนักเกือบสิบโล! (ตัวสินค้าหนัก 5.77 กก.) กล่องประกอบทุกอย่างดูดีแข็งแรง มีลักษณะดีไซน์ก็เฉียบขาดแล้วสำหรับโคมไฟ คล้ายกับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ยังไงยังงั้น เหมาะกับคนที่แต่งบ้านแนว Modern วางตรงไหนก็สวยตรงนั้น นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติอื่นสุดล้ำอีกมากมาย หากคุณเป็นคนที่มีลักษณะ Perfectionism จะเหมาะกับชิ้นนี้มาก

อุปกรณ์ภายในกล่อง

  • โคมไฟ
  • ปลั๊กไฟ

หลังจากประกอบเสร็จ (ซึ่งไม่ได้ยากอะไรเลย) ตัวเครื่องก็จะพร้อมใช้งาน ทีนี้ควรมีแอปพลิเคชันร่วมใช้งานด้วยเช่นกัน (Android/iOS) เพื่อทำการควบคุมผ่านแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ยังมีการ Sync ข้อมูลผู้ใช้งาน เพื่อที่จะให้ความสว่างที่เหมาะสมกับอายุ รวมถึงยังมีการอ้างอิงอัลกอริทึมที่ขับเคลื่อนโดยเวลา วันที่ และ GPS แบบเฉพาะตัว เพื่อให้สภาพแสงที่เหมาะสมในแต่ละวันครับ

แค่โคมไฟทำไมต้องจริงจังขนาดนั้นด้วย ?

ด้วยแนวคิดของ Dyson (ซึ่งมันก็เป็นความจริง) เขาบอกว่าในแต่ละวันแสงธรรมชาติให้สีไม่เท่ากันและสว่างไม่เท่ากัน เช่น แสงแดดตอนเช้าสว่างแบบหนึ่ง, ตอนเที่ยวแบบหนึ่ง, ตอนพระอาทิตย์ตกก็สว่างอีกแบบหนึ่ง อ้างอิงจากคำพูดของหนึ่งในวิศวกรผู้พัฒนา JAKE DYSON

ร่างกายของเราอาจได้รับอิทธิพลจากสเปคตรัมของสี และความสว่างของแสงธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โคมไฟรุ่นใหม่ของเราจึงปรับเปลี่ยนให้เข้ากับแสงธรรมชาติในบริเวณที่คุณอยู่

สรุปก็คือแสงมีผลต่อพฤติกรรมของเรา ว่าเวลาไหนควรนอนเวลาไหนควรตื่น ถ้าเช้ามาเจอแสงไฟแสบตาเราก็คงตื่นแบบไม่สดชื่น รวมถึงค่าของสีเช่นตอนเช้าหรือตอนเย็นจะอมเหลืองหน่อย ร่างกายเราก็จะรู้ว่าตอนนี้เวลาประมาณไหนแล้วโดยไม่ต้องดูนาฬิกานั่นเอง

สรุปก็คือชีวิตคนเรากว่า 90% อยู่ในที่ร่ม (ไม่ใช่กลางแจ้ง) แทบไม่มีโอกาสเห็นเดือนเห็นตะวัน ดังนั้นเรามาปรับสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับธรรมชาติกันเถอะ! เลยเป็นที่มาของการใช้อัลกอริทึมที่ต้องอิงกับเวลา สถานที่ (GPS) และฤดูกาลของแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นการจำลองความสว่างได้แบบสมบูรณ์แบบนั่นเอง! กลับมาเข้าเรื่องรีวิวคือข้อต่อดังภาพ เป็นล้อที่สามารถเลื่อนเข้า-ออก และเลื่อนขึ้น-ลงได้หมดเลยครับ

การควบคุมสามารถหมุนรอบตัวได้ 360 อาศา สามารถเลื่อนเข้า-ออก และเลื่อนขึ้น-ลงได้แบบอิสระ หมายความว่ามันสามารถหมุนได้ทุกทิศทาง ดังนั้นจึงควรมีพื้นที่ในการใช้งานสักนิดนึง เพื่อที่จะได้สามารถดึงประสิทธิภาพสูงสุดของมันออกมา และถึงอย่างไรมันก็เป็นโคมไฟตั้งโต๊ะ ด้วยความสูงจึงไม่เหมาะกับการวางพื้นครับ แล้วก็มีข้อจำกัดตรงที่ดวงไฟไม่สามารถปรับก้มเงยหรืออะไรได้อีก

วิธีใช้งาน

หากไม่นับเรื่องแอปพลิเคชัน ตัวโคมไฟก็สามารถสั่งงานได้ด้วยตัวมันเองเหมือนกัน (ซึ่งมันคงแปลก ถ้าจะใช้งานแล้วต้องหวังแต่มือถือ) ตรงนี้นอกจากเปิด-ปิดกับการปรับความสว่างและอุณหภูมิสี ยังสามารถปรับโหมดอัตโนมัติได้อีกดังต่อไปนี้

  1. Auto ใช้ในการ Sync เพื่อการปรับแสงตามสภาพแสงแบบอัตโนมัติ
  2. เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (คือเดินมาแล้วเปิดเองและพอไม่อยู่แล้วปิดเอง)
  3. เซ็นเซอร์วัดแสงโดยรอบ เพื่อให้ความสว่างที่เหมาะสม

โดยรวมแล้วแทบไม่ค่อยได้กดควบคุมเองเท่าไหร่ เว้นแต่การใช้งานเฉพาะทางบางครั้งอย่างทำกราฟิกหรืออ่านหนังสือ สิ่งที่ชอบก็คือเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว อันนี้ทำได้ค่อนข้างดีมาก เราเดินมาใช้งานก็เปิดให้เลยแต่พอไม่อยู่สักพักก็ปิดให้

ด้านบนมีท่อทองแดง (Heat Pipe) เพื่อทำการระบายความร้อนของหลอดไฟ โดยภายในจะมีของเหลวอยู่คอยทำหน้าที่นำความร้อนให้ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Dyson Lightcycle Desk สามารถรักษาคุณภาพแสงได้ยาวนาน 60 ปี (เดี๋ยวจะรีวิวเพิ่มอีกทีด้านล่าง) ส่วนเรื่องความร้อนก็ไม่ต้องห่วงอะไรครับ ตรงนี้มันไม่ได้ร้อนอะไรมากมายเลย สามารถแตะสัมผัสได้ตลอดเวลาใช้งาน ไม่ต้องรอให้เย็น

ด้านบนเป็นปุ่มระบบสัมผัสสามารถแตะเพื่อเปิด-ปิด แล้วก็สามารถปรับความสว่างได้จากตรงนี้ผ่านการสัมผัสเช่นกัน (สูงสุด 1000 ลักซ์) สุดท้ายคือสามารถปรับอุณหภูมิได้ด้วยว่าจะเอาอมเหลืองแค่ไหน โดยจากผลวิจัยบอกว่าแสงสีฟ้าส่งผลต่อการนอนหลับ ดังนั้นถ้าอยากพักผ่อนก็ปรับให้มันอมเหลืองจะผ่อนคลายขึ้นครับ แถมยังช่วยทำให้ห้องของเราดูอบอุ่นมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องกดผ่านแอปพลิเคชันก็ได้

โหมดความสว่างสำเร็จรูป

  • โหมด Boost สำหรับงานที่ต้องการเพ่งมองให้ชัดเป็นพิเศษ โหมด Boost จะเพิ่มแสงที่สว่างจ้าและขาวมากกว่าปกติ
  • โหมด Precision ช่วยเพิ่มความคมชัดในการมองเห็น ด้วยการกระจายกลุ่มแสงที่มีความเข้มสูง CRI (Color Rendering Index) หรือดัชนีชี้วัดความถูกต้องของสี มากกว่า 90 หมายความว่าสีจะถูกแสดงให้ใกล้เคียงกับคุณภาพของแสงธรรมชาติมากที่สุด
  • โหมด Study ระดับแสงที่เหนือกว่า ระดับมาตรฐานที่แนะนำสำหรับการเรียน และปรับเปลี่ยนอุณหภูมิสีให้สัมพันธ์กับแสงธรรมชาติในพื้นที่ของคุณ
  • โหมด Relax ให้อุณหภูมิสีโทนอุ่นแบบผ่อนคลายด้วยความเข้มแสงต่ำ แต่ยังคงสว่างพอสำหรับการอ่านหนังสือ

คุณภาพแสงสว่างยาวนาน 60 ปี

น่าเสียดายเล็กน้อยตรง LED ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่ทาง Dyson เองก็บอกว่ามันสามารถ “รักษาคุณภาพความสว่าง” ได้ยาวนาน 60 ปี ไม่ใช่แค่ให้แสงสว่างแต่คือต้องสว่างแบบมีคุณภาพ ป้องกันแสงสะท้อนและกระพริบ (<1%) ทำให้ช่วยลดอาการปวดตา ทั้งหมดนี้เกิดจากการออกแบบท่อทองแดง (Heat Pipe) แบบพิเศษ ที่มีการหยดน้ำระเหยในท่อวนเวียนแบบไม่สิ้นสุด ช่วยในการระบายความร้อน

ทดลองปรับความสว่างได้ตั้งแต่ 100-1120lm และอุณหภูมิสีได้ตั้งแต่ 2700-6500K จากภาพด้านบน จะเห็นว่าห้องมีตั้งแต่สลัวไปจนถึงสว่างทั้งห้อง (ภาพถ่ายอาจไม่เห็นภาพเท่าไหร่) อันนี้ตอบโจทย์ทุกการใช้งานได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การใช้งานแบบเปิดโคมไฟอ่านหนังสือก่อนนอน ไปจนถึงการทำงานระดับมืออาชีพที่ต้องการความเที่ยงตรงของสี และการปรับสูง-ต่ำได้ทำให้ไม่แยงสายตา

การใช้งานผ่านแอปพลิเคชันก็คือเหมือนกับปรับตรงโคมไฟทุกอย่าง (อันที่จริงไม่ต้องมีก็ได้) เพียงแต่การปรับค่าจะแม่นยำขึ้นในเรื่องความสว่าง (lm) และสี (K) นั่นเองครับ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกจากค่าสำเร็จรูปเพิ่มเติมได้ด้วย ข้อที่อยากติตรงนี้คือน่าเสียดาย ที่มันไม่สามารถเชื่อมกับ Siri หรือ Google Assistant เพื่อสั่งงานด้วยเสียงหรือทำ Smart Home ได้เลย

อีกหนึ่งลูกเล่นเล็ก ๆ ที่เสริมเข้ามาใน Dyson Lightcycle Desk ก็คือการที่มันมี USB-C มาให้ในตัวด้วย เผื่อใครจะชาร์จอุปกรณ์อะไรระหว่างใช้งาน ตรงนี้นับถือว่า Dyson คิดมาค่อนข้างละเอียดกับผู้ใช้งาน (ถึงแม้ว่าจะมีแค่พอร์ตเดียวก็ตาม) ส่วนตัวมองว่าราคาระดับนี้มันน่าจะมีที่ชาร์จไร้สายมาด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่เป็นไรถือว่าเป็นของแถมเล็ก ๆ น้อย ๆ และคิดว่าทุกคนคงได้ใช้อย่างแน่นอนกับพอร์ตนี้

การใช้งานที่ชอบมีทั้งหมดสองเรื่อง อย่างแรกก็คือความง่ายในการปรับระยะของมัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้น-ลง การปรับเข้า-ออก หรือการหมุนวนรอบเพื่อเอาไปใช้งานอีกฝั่ง คือมันขยับได้แบบง่ายมาก ๆ จนแทบไม่ต้องใช้แรงอะไรเลย ซึ่งหาได้ยากมากที่จะเจอโคมไฟที่มีคุณสมบัติปรับง่ายแบบนี้ อีกประการก็คือเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว ที่เปิดทุกครั้งเมื่อเรามาใกล้เป็นการบังคับตัวเองไปในตัว

ข้อดี

  1. ปรับแสงได้หลายแบบ ใช้งานไม่ปวดตา
  2. คุณภาพแสงยาวนาน 60 ปี
  3. ปรับขึ้น-ลงและองศาอื่นได้อย่างง่ายดาย
  4. ดีไซน์สวยงามสมราคา
  5. วัสดุคุณภาพสูง
  6. รับประกัน 5 ปี

ข้อเสีย

  1. เชื่อมต่อ Siri หรือ Google Assistant ไม่ได้
  2. ราคาค่อนข้างสูง (ในฐานะโคมไฟอันหนึ่ง)

สรุป

พูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นงานระดับพรีเมี่ยม ถ้าโคมไฟธรรมดาแต่มีดีไซน์สวย ๆ ราคาอันละหลายพันถึงหลักหมื่น ก็พอหาได้ในท้องตลาด แต่สำหรับ Dyson Lightcycle Desk ที่มีดีไซน์และวัสดุที่ดีเยี่ยม หากจะบอกว่าราคาหลักหมื่นก็ไม่ได้เกินจริงเท่าไหร่นัก แถมยังมีจุดขายในการใช้งานหลาย ๆ ด้านเรียกได้ว่าเหมาะสมกับราคาครับ เพราะมันไม่ใช่แค่แสงสว่างแต่เป็นแสงสว่างแบบมีคุณภาพ หรือจะเรียกว่า “โคมไฟที่ดีที่สุดในโลก” เลยก็ได้ เอาเป็นว่าหากใครสนใจลองไปสั่งซื้อได้ที่ Central.co.th ในราคา 18,900 บาท

REVIEW OVERVIEW
การออกแบบ
ใช้งานจริง
ความคุ้มค่า
คุณภาพวัสดุ
บริการหลังการขาย
Previous articleรีวิว UGreen USB-C 10-in-1 Multifunctional Adapter
Next articleCanon มอบส่วนลดค่าบริการล้างเลนส์กล้องสูงสุด 70% หนุนลูกค้าเตรียมกล้อง ให้พร้อมเที่ยวหลังโควิด
review-dyson-lightcycle-deskอายุการใช้งานยาวนาน 60 ปี (คงไม่มีโอกาสได้รีวิวจนถึงวันนั้น) แต่คิดว่าน่าจะทำได้จริง ถ้าหารราคามาต่อปีก็พอจะปลอบใจตัวเองได้ว่าไม่แพงมาก เอาเป็นว่าหากคุณไม่ติดเรื่องงบประมาณ และอยากได้โคมไฟคุณภาพสูงสักตัวที่ได้รวมถึงดีไซน์และวัสดุ Dyson Lightcycle Desk ตอบโจทย์การใช้งานทุกประการ โดยรวมแล้วชอบมากครับ