ช่วงนี้สมาร์ตโฟนราคาไม่เกิน 3,000 บาท ยอดขายดีถล่มทลายมาก ส่วนหนึ่งเพราะบางคนเอาไปใช้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ Wiko POWER U20 มาได้ตรงเวลาและถูกที่ถูกเวลาเลยทีเดียว เหมาะสำหรับคนมีสมาร์ตโฟนเครื่องแรก ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก เพียงแค่เพื่อใช้งานทั่วไปรวมถึงแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แต่ได้แบตเตอรี่อึดที่ใช้งานได้หลายวัน และหน้าจอใหญ่ในราคาที่ไม่แพง
Wiko POWER U20
จุดเด่นของ Wiko POWER U20 อย่างแรกเลยก็คือ แบตเตอรี่ 6000 mAh มาพร้อมกับระบบจัดการพลังงาน AI Power ที่สามารถใช้งานได้ยาวนาน 4 วัน นอกจากนี้ยังมี หน้าจอขนาดใหญ่ 6.8″ เหมาะทั้งกับการเล่นเกม ดูหนัง รวมถึงการใช้งานของผู้สูงอายุ ส่วนสเปกอื่นก็ไม่ได้ขี้เหร่ ROM 32 GB, RAM 3 GB อีกทั้งยังมี Triple Camera (กล้องหลังสามเลนส์) ในราคาไม่ถึงสามพันบาท
สเปกและคุณสมบัติ
- ระบบปฏิบัติการ Android 11
- หน้าจอ IPS ขนาด 6.8″ HD+ (ความละเอียด 720 x 1640)
- หน่วยประมวลผล MediaTek Helio G35
- แรม 3 GB
- รอม 32 GB (รองรับ microSD Card สูงสุด 256 GB)
- กล้องหลังแบบ 3 เลนส์ พร้อมไฟแฟลช LED
- กล้องหลัก 13 MP
- กล้องโบเก้ 2 MP
- กล้องปัญญาประดิษฐ์ (AI) QVGA
- กล้องหน้า 5 MP
- รองรับสองซิม (สามารถเพิ่ม microSD แยกต่างหาก)
- ไม่มีระบบสแกนลายนิ้วมือ
- แบตเตอรี่ 6,000 mAh
- ขนาด 173.8 × 78.6 × 9.45 มม.
- น้ำหนัก 210 กรัม
สัมผัสแรกคือเครื่องใหญ่สะใจมาก (ฮา) นึกว่ากำลังถือ Samsung Galaxy Note ถ้าใครอยากได้ใหญ่กว่านี้แนะนำให้ไปซื้อ Tablet สเปกโดยรวมถือว่าสมราคาครับ ไม่ได้ขี้เหร่อะไรมาก มีการตัดหลายสิ่งออกเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระบบสแกนลายนิ้วมือ, ระบบชาร์จเร็ว, Wi-Fi 5 Ghz, USB-C ส่วนรายละเอียดสเปกทั้งหมดสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของ Wiko แทนนะครับ
หากคุณดูรุ่น Wiko ที่ขายในประเทศไทย จะพบว่าราคาเฉลี่ยไม่สูงมากนัก และสำหรับรุ่นนี้ถูกวางตำแหน่งไว้ในตระกูล POWER U Range ที่เน้นปริมาณแบตเตอรี่ โดยมีให้เลือกสองรุ่นคือ U10 และ U20 โดยมีราคาต่างกันแค่สามร้อยบาท ส่วนเรื่องสเปกของ U20 นั้นดีกว่าแบบไม่ต้องสงสัย ผู้รีวิวแนะนำให้บวกเงินอีกหน่อยเอา U20 มาจะใช้งานจะได้ความคุ้มค่าที่สุด (เพิ่มเงินแค่นิดเดียวเอง)
Wiko เปลี่ยนรุ่น View เป็นรุ่น Power U
คนที่ใช้งาน Wiko จะคุ้นกับชื่อตระกูล View เป็นอย่างดีในฐานะสมาร์ตโฟนหน้าจอใหญ่ ในวันนี้ได้เปลี่ยนรุ่นใหม่ภายใต้แคมเปญ let’s POWER-UP กลายเป็นตระกูล Power U เพื่อแสดงให้เห็นถึงแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Huge Battery) และระบบปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการพลังาน (AI Power) ซึ่งในตอนนี้ก็มีเพียงแค่สองรุ่นคือ U10 และ U20 ที่เรากำลังรีวิวอยู่ในตอนนี้นั่นเอง
อุปกรณ์ภายในกล่อง
Wiko มีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco friendly) แต่ยังให้อุปกรณ์เสริมจัดเต็ม
- ตัวเครื่องสมาร์ตโฟน
- อะแดปเตอร์
- หูฟัง 3.5 มม.
- สายชาร์จ
- เคสซิลิโตน
- ฟิล์มกันรอย
จะเห็นได้ว่าของแถมครบแบบจัดเต็ม (อุปกรณ์เยอะกว่าบางค่ายอีก) ทั้งที่มีราคาเพียงแค่ 2,999 บาท
หน้าจอความละเอียด HD+ แต่ก็เพียงพอสำหรับการใช้งาน และดีอย่างตรงที่จอความละเอียดต่ำไม่กินแบตเตอรี่ รวมถึงมีการใช้ทรัพยากรเครื่องที่ต่ำ ทำให้สามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหล บวกกับแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ 6,000 mAh ชาร์จเพียง 1 ครั้ง สามารถใช้งานได้นานสูงสุดถึง 4 วัน และถูกจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ในการใช้งานแบตเตอรี่ของ ViserMark โดย SmartViser ในด้านการทดสอบอุปกรณ์
ทดสอบใช้งานจริง
ตัวเครื่องของ Wiko POWER U20 มาพร้อมกับดีไซน์วัยรุ่นทันสมัย ด้านหลังตัวเครื่องโค้งเข้ากับสรีระอุ้งมือ มีความเป็นขอบมนสูงทำให้จับถือง่ายไม่ลื่นหลุดมือ ด้านหลังมีตัวอักษรเป็นคำว่า let’s POWER-UP ขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนสีเครื่องมีให้เลือกเป็น Slate Grey, Navy Blue และ Mint ตัวเครื่องที่ผมได้คือด้านหลังเป็นแบบด้าน ทำให้ยากต่อการเกิดรอยนิ้วมือระหว่างการใช้งาน
การจับของตัวเครื่องจะค่อนข้างเต็มไม้เต็มมือ หากคุณเป็นผู้หญิงที่มือเล็กก็จะถือจับลำบากหน่อย (เหมาะกับการใช้งานสองมือ) ส่วนถ้าเป็นผู้ชายมือใหญ่ก็ลำบากเหมือนกันแต่ลดลงมาหน่อย อันนี้เป็นข้อจำกัดที่ต้องยอมรับหากคุณอยากได้สมาร์ตโฟนจอใหญ่ ข่าวดีก็คือคุณอาจไม่ต้องกลัวมันตกหรือถนอมอะไรมากนัก เพราะด้วยราคาเพียงแค่ 2,999 บาท หากเสียหายไปก็ไม่ต้องเสียดายเงินอะไรมาก
ในภาพคือว่าขนาดว่าใหญ่แล้วแต่ถ้าใส่เคสก็จะใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย ส่วนตัวผู้เขียนชอบการสกรีนของ Wiko ที่ใส่มาได้ใหญ่กว่าโลโก้ของตัวเองอีก บางทีมองผ่านแล้วนึกว่ากำลังใส่เคสลายอะไรอยู่ (ฮา) สำหรับคนที่ไม่ชอบซ้ำและไม่เหมือนใคร Wiko POWER U20 อันนี้ตอบโจทย์มาก เพราะในตลาดผมเองก็ยังไม่เคยเจอแบรนด์ไหนทีสกรีนออกมาได้ใหญ่โต และดูเท่เป็นสตรีทมากมายอะไรขนาดนี้
หน้าจอ
หน้าจอ IPS ขนาด 6.8″ HD+ (ความละเอียด 720 x 1640) อาจสู้แสงไม่ได้มากเท่าไหร่นัก แต่ก็พอใช้งานทั่วไปอะไรได้ดี ความคมชัดไม่ได้เยอะอะไร แต่ก็เข้าใจได้ด้วยราคาถูกขนาดนี้ คือมันไม่ได้เบลอหรือภาพแตกอะไรนะ แต่คือไม่ได้ชัดแบบคมตาแตก เหมือนกับหน้าจอความละเอียดสูงเท่านั้นเอง ด้านบนเป็นกล้องหน้าทรงหยดน้ำขนาดกำลังพอดี ส่วนขอบด้านข้างก็มีอยู่บ้างเป็นเรื่องปกติ
การรับชมภาพยนตร์ก็สวยงามตามท้องเรื่อง มีจุดเด่นเรื่องขนาดหน้าจอมากลบจุดด้อยเรื่องความละเอียด โดยรวมแล้วให้ความเห็นที่เป็นบวกเพราะใหญ่เต็มตาดี บวกกับตัวเครื่องขนาดใหญ่ด้วยทำให้เราสามารถจับได้ถนัดมือ ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติด้านแอปพลิเคชันที่ฝังมากับเครื่อง ทำให้สามารถแบ่งเป็นสองหน้าจอได้ด้วย (เท่มาก) ทำให้เราสามารถใช้หน้าจอขนาดใหญ่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เวลาเอียงหน้าจอแล้วแอปพลิเคชันไม่เอียงตามก็อย่างพึ่งตกใจ เพราะว่าตัวเครื่อง ไม่มี Gryoscope มาให้เลยต้องเลือกเองผ่านเมนู แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมาก ยกเว้นแต่ว่าคุณเล่นเกมขับรถที่ต้องใช้การเอียงเครื่อง (Gryoscope) นอกนั้นก็แค่ความน่าคาญเล็กน้อยเวลาเอียงจอดูรูป อันนี้ด้วยราคาทำให้หลายคนไม่ติดใจอะไรมาก กับคุณสมบัติบางประการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หายไป
แบตเตอรี่
ยอมรับเลยว่าตั้งแต่รีวิวมือถือมาไม่เคยเจอแบตเตอรี่อึดขนาดนี้ ไม่เพียงแค่ปริมาณ 6,000 mAh ที่สร้างความตกใจให้กับเรา แต่ยังเป็นเรื่องการใช้พลังงานของเครื่องที่ต่ำมาก Wiko โฆษณาว่า แบตเตอรี่สามารถอยู่ได้นาน 4 วัน แต่เอาเข้าจริงคือถ้าอยู่ได้เพียงแค่ 3 วัน (ขึ้นอยู่กับการใช้งาน) ก็สร้างความมหัศจรรย์มากแล้ว จะมีก็แต่เรื่องหากคุณชาร์จแบตเตอรี่จาก 0-100% จะใช้เวลานานมาก
ความลับของแบตเตอรี่ยาวนานประการแรกก็คือ “แบตเตอรี่ 6,000 mAh” ที่ด้วยปริมาณก็สะท้อนตัวมันเองอยู่แล้ว ถัดมาก็คือหน้าจอ HD+ ที่ใช้พลังงานต่ำกว่าพวกหน้าจอความละเอียดสูงและความสว่างสูง และที่ขาดไม่ได้ก็คือชิป Mediatek Helio G35 ที่ขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องประหยัดพลังงาน (MediaTek HyperEngine) และสุดท้ายเลยก็คือ AI Power ที่คอยช่วยจัดการพลังงานอีกที
ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียงสำหรับการชาร์จด้วย Micro USB ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสมาร์ตโฟนราคาประหยัด ข้อดีก็คือคนที่มีอุปกรณ์สายเก่าอยู่แล้ว สามารถเสียบชาร์จเพื่อใช้ร่วมกันได้เลย แต่สำหรับคนที่มีอุปกรณ์ USB-C เป็นส่วนใหญ่จะให้ผลตรงกันข้าม ทั้งนี้การชาร์จแบตเตอรี่จะเป็นแบบธรรมดา ไม่รองรับชาร์จเร็ว ส่วนข้อดีแน่ ๆ เครื่องนี้เลยก็คือการมีอยู่ของช่องหูฟัง 3.5 มม.
กล้อง
พูดแต่เรื่องแบตเตอรี่กับหน้าจอซะเยอะมาถึงคราวกล้องกันบ้าง หลายคนคงไม่คาดหวังอะไรกับสมาร์ตโฟนราคาไม่เกินสามพันบาท แต่ครั้งนี้ Wiko ก็ให้มาแบบไม่มีกั้กด้วย กล้องหลัง 3 เลนส์ AI โดยมีความละเอียดที่กล้องหลัก 13 MP ส่วนอีกสองกล้องเป็นกล้องโบเก้และกล้อง AI (แต่ช่วยในการประมวลผลภาพ) ปรับหน้าชัดหลังเบลอให้เนียนตา และวิเคราะห์ฉากสภาพแวดล้อมให้แม่นยำยิ่งขึ้น
ลูกเล่นกล้องมีให้ใช้งานพอหอมปากหอมคอ สามารถใส่ฟิลเตอร์น่ารัก ๆ สไตล์ผู้หญิงได้ มีโหมดมืออาชีพให้ปรับแบบ Manual สามารถเปิดถ่ายแบบ HDR และ AI ส่วนสิ่งที่ทำได้ดีสุดก็คือ “ละลายฉากหลัง” เนื่องจากมีเลนส์โบเก้เฉพาะทางมาให้ ส่วนภาพที่ได้ออกมาค่อนข้างเนียนเลยทีเดียว ส่วนการถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุด 1080P @30fps ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป
ภาพที่ได้จากกล้องหลังค่อนข้างเป็นที่น่าประทับใจ หากอยู่ในสภาวะแสงเยอะจะถ่ายได้ง่ายมาก โดยเฉพาะการเปิด HDR จะช่วยให้ภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบ AI ที่ช่วยปรับแต่งการตั้งค่าให้เหมาะสม (แต่โดยรวมก็ยังแนะนำให้ถ่ายที่แจ้งมากกว่า) การถ่ายรูปในที่มีแสงหลากสีรบกวน อาจทำให้ภาพมีค่าสีที่วัดผิดเพี้ยนไปจากความจริงเล็กน้อย แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
แต่ที่น่าสนใจก็คือการถ่ายภาพบุคคล Wiko POWER U20 สามารถละลายหลังออกมาได้ “ค่อนข้างเนียน” เนื่องจากมีเลนส์โบเก้ที่จะช่วยในเรื่องของการ ปรับหน้าชัดหลังเบลอให้เนียนตา พร้อมเลนส์ใหม่ AI ที่เข้ามาช่วยปรับปรุงสภาพแสงในที่แสงน้อยให้ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังทำงานร่วมกับกล้องหลักเพื่อวิเคราะห์ฉากสภาพแวดล้อมให้แม่นยำยิ่งขึ้นในโหมด Auto Scene Detection
กล้องหน้ามาพร้อมกับความละเอียด 5 MP แต่เห็นราคาประหยัดแบบนี้ ก็มาพร้อมกับโหมดหน้าสวย (AI Beauty) ปรับแต่งหน้าเนียน และยังมีการเพิ่มฟิลเตอร์สุดน่ารักแบบเดียวกับกล้องหลังมาให้ด้วย ถ้าเป็นสภาพแสงเยอะหรือกลางแจ้งอันนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าเป็นที่แสงน้อยก็จะถ่ายได้ลำบากหน่อย เป็นเรื่องปกติด้วยข้อจำกัดของเลนส์และขนาดเซ็นเซอร์ หากเอาไว้ใช้งาน VDO Call ก็พอได้อยู่
หากพูดในเรื่องของการเปรียบเทียบคุณภาพกล้องหน้าและกล้องเรา เราให้คะแนนเทใจไปที่กล้องหลังมากกว่า เพราะมีความโดดเด่นมากกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าออกมาจากสมาร์ตโฟนราคาไม่เกินสามพันบาท ส่วนกล้องหน้าเหมาะสำหรับเอาไว้ใช้งานพื้นฐานทั่วไป เนื่องจากจุดเด่นของรุ่นนี้อยู่ที่แบตเตอรี่อึด หน้าจอใหญ่ ในราคาประหยัด กล้องหลังค่อนข้างใช้ได้ ไม่ได้เน้นเรื่องของการเซลฟี่สักเท่าไหร่
ประสิทธิภาพ
ด้วยความที่เป็น Android 11 แบบที่แทบไม่ได้ปรับแต่งอะไรเลย เครื่องเลยลื่นมากกว่าปกติเป็นพิเศษ ส่วนชิปประมวลผลเป็น MediaTek Helio G35 ที่เป็นชิปราคาประหยัดสำหรับเล่นเกม ตัวเครื่องมีตัวช่วยเป็น Game Mode ที่ออกแบบมาเพื่อเล่นเกม จากเดิมที่ผู้รีวิวไม่ได้คาดหวังอะไร ปรากฎว่าทำออกมาได้ดีมากในส่วนของ RoV สามารถปรับได้เกือบสุด และใช้เล่นเกมได้เป็นอย่างดี
อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่าเครื่องไม่มี Gryoscope ทำให้บางเกมหรือบางการใช้งานจะมีข้อจำกัดเล็กน้อย ส่วนการดูภาพยนตร์ก็เต็มความละเอียดหน้าจอ จะมียกเว้นเพียงแค่ Netflix ที่รับชมได้เพียงแค่ SD เนื่องจากตัวเครื่องถอดรหัส Widevide ได้เพียงแค่ L3 (แต่เชื่อว่าคนดู Netflix คงคนละกลุ่มอยู่แล้ว) นอกนั้นก็ใช้งานได้ดีมีระยะขอบจอยู่พอควร ทำให้มือไม่ไปโดนหน้าจอโดยไม่ตั้งใจ
ตัวเครื่องไม่มีระบบสแกนลายนิ้วมือ และไม่รองรับ Wi-Fi 5 Ghz ส่วนเวอร์ชัน Bluetooth 4.2 แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรนักสำหรับผู้เริ่มต้น หากสังเกตจากหน้าจอด้านบนจะเห็นว่ารองรับ วิทยุ FM ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในสมาร์ตโฟนยุคนี้ ส่วนสเปกยิบย่อยมีระบบนับก้าว (Wiko Health), การสั่งงานด้วยเสียง (Google Assistant) + ปุ่มที่ตัวเครื่องสำหรับเรียกสั่งงานโดยเฉพาะ
ข้อดี
- หน้าจอใหญ่ 6.8″
- แบตเตอรี่อึด 6,000 mAh
- ระบบจัดการพลังงานใช้ได้นาน 4 วัน
- กล้องหลังสามเลนส์
- อุปกรณ์ให้มาครบทั้งหูฟัง เคสและฟิล์ม
ข้อเสีย
- ไม่รองรับชาร์จเร็ว
- ไม่มีสแกนลายนิ้วมือ
- ไม่รองรับ Wi-Fi 5 Ghz
สรุป
ดีกว่าที่เราคาดการณ์ไว้มากสำหรับ Wiko POWER U20 ราคา 2,999 บาท น่าจะหาคู่เปรียบเทียบยากในช่วงเวลานี้ เพราะได้ทั้งหน้าจอใหญ่และแบตเตอรี่อึด เหมาะสำหรับคนใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้เน้นเรื่องเล่นเกมพิเศษ สามารถใช้งานได้ทั้งวัน (อันที่จริง 4 วันเลยแหล่ะ) จากการทดสอบผู้รีวิวใช้งานได้จริงเต็มที่ประมาณ 3 วัน แต่เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว มีกล่องหลังที่คุณภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับราคา เอามาใช้งานจริงได้เวลาสแกน QR Code โฟกัสได้เร็วพอสมควร
หมายเหตุ – บทความนี้เป็น Advertorial