SSD เริ่มมีบทบาทในวงการ PC ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ไปจนถึงหน่วยเก็บข้อมูลอย่าง WD My Passport SSD (2020) ที่พัฒนาต่อยอดมาจากรีวิวรุ่นเก่า ให้มีความแรงมากขึ้นไปอีกต้อนรับปี 2020 โดยทาง WD ได้วางมาตรฐานความเร็วใหม่ไว้สูงสุดถึง 1050 MB/s จากเทคโนโลยี NVMe ในคอมพิวเตอร์มาสู่ฮาร์ดดิสก์ภายนอกของเรานั่นเองครับ

WD My Passport SSD (2020)

สำหรับคนไม่ได้ตามเทคโนโลยีเท่าไหร่ WD My Passport SSD มันก็คือหน่วยความจำภายนอกเหมือนกัน Flash Drive หรือ Hard Disk External ที่เราเอาจุดเด่นทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน โดยจะมีทั้งความจุให้เลือกตั้งแต่ 500 GB, 1 TB, และ 2 TB (ตัวที่รีวิวเป็นรุ่น 1 TB) อีกทั้งยังมีความเร็วสูงไม่แพ้กับหน่วยความจำ SSD NVMe ที่อยู่ในเครื่องเราเลยครับ

จุดเด่น

  • เทคโนโลยี NVMe ความเร็วในการอ่านสูงถึง 1050 MB/s ความเร็วในการเขียนสูงถึง 1000 MB/s
  • รองรับการเข้ารหัสข้อมูลฮาร์ดแวร์ AES 256-bit
  • ทนต่อแรงกระแทกและการสั่นสะเทือน ทนต่อการหล่นได้ถึง 1.98 เมตร
  • ใช้งานง่าย
  • ขนาดพกพาง่าย
  • รองรับมาตรฐาน USB 3.2 Gen-2 และ USB-C (รวมถึงใช้กับ USB-A ระบบเก่า)

ขนาดก็ค่อนข้างเล็กคือเก็บใส่กระเป๋าเสื้อได้สบาย (9 x 55 x 100 มม.) ด้วยน้ำหนักเบาเพียง 45.7 กรัม ส่วนเรื่องความเร็วก็ไม่มีอะไรต้องห่วงเพราะมีการเปลี่ยนจาก SSD M2 SATA III (6 Gbps) มาเป็น SSD M.2 NVMe (10 Gbps) และมีการโอนถ่ายผ่าน USB 3.2 Gen-2 จึงไม่ต้องห่วงถึงเรื่องคอขวด ให้ความเร็วในการอ่านสูงสุด 1050 MB/s ถ้าจะมีคอขวดก็คงเป็นที่อุปกรณ์ของผู้ใช้งานเองมากกว่า

การรีวิวในวันนี้ออกตัวก่อนว่า แต่ละอุปกรณ์มีความแตกต่างกัน ดังนั้นอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งหากต้องการให้ได้ความเร็วตามสเปก ก็ควรเลือกคอมพิวเตอร์ที่รองรับ USB 3.2 Gen-2 ยกตัวอย่างเช่น ASUS ROG STRIX Z270E GAMING ส่วนตัวผู้เขียนมาทางสาย macOS จึงขอทดสอบรีวิวกับ MacBook Pro รุ่น 16 นิ้ว ซึ่งทำให้ได้ความเร็วไม่ถึงตามสเปก (แต่เชื่อว่าหลายคนก็ใช้ Mac รุ่นประมาณนี้เหมือนกัน)

ภายในก็จะมีโปรแกรม WD Discovery มาให้เลยทั้ง macOS และ Windows สามารถใช้งานได้ทั้ง WD Security, WD Backup และ WD Drive Utilities โดยจะเป็นเรื่องของความปลอดภัย การสำรองข้อมูล ฯลฯ แต่อันนี้หากใครไม่ชอบก็ไม่ต้องติดตั้งก็ได้ครับ เป็นแค่เครื่องมืออำนวยความสะดวกเฉย ๆ

การใช้งานก็เสียบผ่าน USB-C ตามสมัยนิยมปกติ ซึ่งเดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องก็เริ่มมีกันหมดแล้ว แต่จะติดปัญหานิดหน่อยตรงที่ว่าอุปกรณ์ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นมาตรฐาน USB 3.2 Gen-2 ทำให้การรีดประสิทธิภาพของ WD My Passport SSD เป็นไปได้ยากที่จะได้ความเร็วสูงสุด 1050 MB/s แต่ถ้าคิดอีกแง่นึงการซื้อไว้เผื่ออนาคตอันใกล้ก็ดีเหมือนกัน เพราะราคามันไม่ได้สูงไปกว่า SSD External ที่วางขายอยู่ทั่วไปเท่าไหร่นัก

แต่หากใครที่เป็นพอร์ต USB-A แบบเก่าก็ไม่ต้องตกใจ เพราะว่าทาง WD ได้เตรียมหัวแปลงไว้ให้เรียบร้อย (ตามภาพรีวิวด้านบน) ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐาน USB 3.0 และเข้ากันได้กับ USB 2.0 หรือเก่ากว่าได้อย่างไม่มีปัญหา ส่วนพวกสาย USB-C ก็สามารถใช้ร่วมกันกับสายชาร์จมือถือที่เป็น USB-C เหมือนกันได้เลยไม่ว่าจะเป็น USB-C > USB-C หรือ USB-C > USB-A เองก็ตาม แต่ถ้าจะให้ดีสุดก็คือใช้สายของ WD เพราะมีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือมากกว่า

ทดสอบความเร็วกับ MacBook Pro รุ่น 16 นิ้ว ด้วยโปรแกรม Blackmagic Disk Speed Test ก็ได้ความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 954 MB/s และเขียนอยู่ที่ 912 MB/s ต่ำกว่าสเปกที่ทาง WD คุยไว้ไม่ถึง 10% เลยด้วยซ้ำ (แต่เท่าที่ดู Blogger ท่านอื่นทดสอบก็ได้ความเร็วตามที่คุยไว้) ทั้งนี้อาจเป็นเรื่องความแตกต่างของอุปกรณ์ทดสอบก็เป็นไปได้ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ต่ำถึงขนาดยอมรับไม่ได้แต่อย่างใด

และทดสอบอีกครั้งผ่าน CrystalDiskMark 7.0.0 บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่เป็น AMD Ryzen 5 3600 + Asrock B450M Steel Legend ก็ได้ความเร็วที่ใกล้เคียงกับสเปกเพิ่มขึ้นมาหน่อย เป็นความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 984 MB/s และเขียนอยู่ที่ 991 MB/s ความเร็วมากพอที่จะเอาไว้ใช้ตัดต่อได้สบาย นอกจากนี้ยังมีข้อดีอีกอย่างหากใครใช้ Android รุ่นที่รองรับ OTG (ในกรณีของผมคือ Samsung Galaxy S10) ก็สามารถใช้โอนถ่ายเก็บข้อมูลได้ด้วย

ข้อดี

  1. ความเร็วในการอ่านสูงถึง 1050 MB/s เขียนสูงถึง 1000 MB/s
  2. ทนต่อแรงกระแทกและการสั่นสะเทือน ทนต่อการหล่นได้ถึง 1.98 เมตร
  3. รองรับมาตรฐาน USB 3.2 Gen-2

ข้อเสีย

  1. สายสั้นไปหน่อย 15 ซม.

สรุป

การใช้งานจริง WD My Passport SSD (2020) ความเร็วสูงถึงแม้จะห่างชั้นจาก SSD NVMe ภายในเครื่องอย่าง WD_BLACK SN750 แต่ถ้าเทียบกับหน่วยความจำภายนอกก็ถือว่ามีความเร็วแรงที่ไม่น้อยหน้าใคร บางคนทำงานตัดต่อสามารถใช้ตัดผ่านหน่วยความจำภายนอกได้เลย ไม่ต้องลากไฟล์ลงเครื่องไปมาให้เสียเวลา แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นราคาจะสูงกว่า Harddisk External แบบเก่าค่อนข้างมากหลายเท่าตัวอยู่