Nubia Z11 mini เป็นสมาร์ทรุ่นเล็กหากเทียบจากราคา 6,990 บาท แต่สเปคอยู่ในระดับสมาร์ทโฟนช่วงราคาหมื่นกว่าบาท RAM 3 GB, ROM 32 GB รองรับสองซิมและแบ่งหน้าจอได้ ทำให้เป็นที่จับตามองและถามถึงใน Pantip และ Facebook อย่างกว้างขวาง ซึ่งวันนี้เราจะมารีวิวกันหลังจากก่อนหน้าได้ รีวิว – Nubia Z11 “สเปคแรงระดับตัว TOP ทำไมต้องจ่ายแพง” ไปเรียบร้อยแล้ว
Nubia Z11 mini
ขอเกริ่นก่อนว่า Nubia เป็นบริษัทลูกที่แยกออกมาจาก ZTE โดยมีการพัฒนาสมาร์ทโฟนอย่างอิสระ รวมถึงการบริหารที่คล่องตัวกว่า และไม่ใช่ยี่ห้อไก่กาอะไรเพราะมีสิทธิบัตรกว่า 60,000 รายการ สะท้อนให้เห็นว่าเขาเองก็จริงจังกับธุรกิจนี้เช่นเดียวกัน ต่างจากบางยี่ห้อที่เน้นจ้างโรงงานอื่นผลิตแล้วตีตรายี่ห้อตัวเอง โดยไร้ซึ่งเทคโนโลยี, นวัตกรรม, และสิทธิบัตรของตัวเอง
สเปค และรายละเอียด
Nubia Z11 mini มีขายเพียงแค่โมเดลเดียวคือ RAM 3 GB, ROM 32 GB ซึ่งไม่ธรรมดาเลยหากเทียบกับค่าตัว
- ระบบปฎิบัติการ Android 5.1.1 (ครอบทับด้วย nubia UI 3.9.6 + NeoVision 5.8)
- หน้าจอ 5″ IPS-NEO ความละเอียด 1920 x 1080 พิกเซล
- กระจก Gorilla Glass 3 ความโค้ง 2.5D
- หน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 617 MSM8952
- แรม 3 GB
- ความจุ 32 GB รองรับ microSD สูงสุด 200 GB
- กล้องหลัง 16 MP f/2.0 เซ็นเซอร์ IMX298
- กล้องหน้า 8 MP f/2.4
- รองรับสองซิม 4G LTE หรือเลือก microSD
- รองรับสแกนลายลายนิ้วมือ
- แบตเตอรี่ 2,800 mAh
- ขนาด 141.4 x 70 x 8 มม.
- น้ำหนัก 138 กรัม
- ราคา 6,990 บาท
ตัวเครื่องมีสีขาวและดำ (ส่วนตัวแนะนำสีขาวน่าจะสวยกว่า) สั่งซื้อได้ที่ http://store.nubia.com/th/buy/Z11mini
nubia UI
การปรากฏตัวเป็นครั้งแรกของ nubia UI (ถึงแม้เวอร์ชันรุ่นจะต่ำกว่า Nubia Z11 ก็ตามที) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้แตกต่างจาก Android ทั่วไปโดยมีการพัฒนาและออกแบบมากกว่า 1,000 ครั้ง จนกระทั่งได้อินเตอร์เฟซใหม่ล่าสุดนี้
- Super Screenshot : จับภาพหน้าจอแบบยาว (เช่น หน้าเว็บไซต์), บันทึกหน้าจอเป็นวิดีโอ
- Edge Gesture : รูดขอบหน้าจอ (ทั้งซ้ายและขวา) เพื่อใช้งานคีย์ลัด
จุดเด่นคือนอกจากจะใช้งานง่ายคล้าย iOS ยังสามารถจับภาพหน้าจอหลายแบบนี้, มีลูกเล่นขอบข้างหน้าจอ, รวมถึงการจำกัดกิจกรรมของแอปพลิเคชันพื้นหลัง และลดการบริโภคพลังงานลงอีกด้วย
ด้านหลังเป็นที่สแกนหลายนิ้วมือ ซึ่งเมื่อเราวางมือจะพอดีกับนิ้วชี้ ส่วนความเร็วที่ได้ค่อนข้างจะพึงพอใจ (ประมาณ 0.5 วินาที) และตรงนี้สามารถตั้งค่าไว้เพื่อจับหน้าจอได้ด้วย แต่ก็แนะนำเท่าไหร่นักเพราะใช้งานจริงมักจะเผลอไปโดนอยู่บ่อย ๆ
สีดำที่ได้มาเป็นแบบดำเงา ข้อเสีย ก็คือเป็นรอยนิ้วมือง่ายไปนิด หากใครกังวลแนะนำให้เลือกสีขาวแทน แต่หากใครชอบอารมณ์ Jet Black ก็แนะนำสีดำเลยเพราะสีมันเหมือนกับของ iPhone 7 ยังไงยังงั้นเลยครับ (ไม่ต้องจ่ายแพงด้วย)
เนื่องด้วยสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เป็น USB-C กันเกือบหมดแล้ว ตามแนวทางการพัฒนาของ Google และเครื่องนี้ถึงแม้จะเป็นรุ่นราคาถูกก็ได้เป็น USB-C ไม่ต่างกัน บางคนอาจมองเป็นข้อเสียเรื่องอุปกรณ์ แต่เชื่อเถอะว่าภายใน 1-2 ปีนี้ Micro USB จะเป็นเรื่องล้าหลังไม่ต่างจาก Mini USB ในอดีตกาล
ปุ่มปรับเสียงและปุ่มล็อคเครื่องอยู่ด้านขวา
ด้านบนเป็นช่องเสียบหูฟังและไมค์
ช่องใส่ซิมจะอยู่ด้านซ้ายรองรับสองซิมหรือเลือกเป็นเพิ่มเมมก็ได้
วัสดุและงานประกอบ
แทบไม่น่าเชื่อว่าจะราคา 6,990 บาท งานประกอบดูดีมาก ถือแล้วดูมีราคาเทียบชั้นกับสมาร์ทโฟนราคาหลักหมื่น ด้านข้างเป็นอลูมิเนียมเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่วนหน้าจออาจดูเล็กไปนิด (บางคนก็ชอบเท่านี้) มีความคมชัดสู้แสงได้เป็นอย่างดี สีสันสดใส 95% NTSC ภายใต้ความละเอียด 1080P 441 PPI ทำให้เวลาแบ่งสองจอแล้วยังเก็บรายละเอียดได้อยู่
ส่วนตัวชอบด้านหลังที่กล้องไม่นูนออกมา ซึ่งคุณภาพกล้องก็ไม่ธรรมดา ด้วยการใช้เซ็นเซอร์ที่แยกออกในส่วนของพิกเซล DTI (Deep Trench Isolation) ช่วยลดภาพรบกวน (Noise) แม้ถ่ายในที่แสงน้อย
- รูรับแสงแบบมัลติ
- เส้นโค้งโคจร
- รูรับแสงอิเลคโทรนิกส์
- ชัตเตอร์แบบช้า
- ถ่ายภาพดาว
- ตัดต่อวิดีโอ
- บันทึกภาพแบบ DNG
- บันทึกภาพซ้อน Clone Camera
ด้านบนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของฟีเจอร์กล้องของ Nubia Z11 mini ที่ใส่มาแบบไม่หวงว่าจะขายรุ่น TOP ไม่ออก ต่างจากแบรนด์อื่นที่มักจะ “กั๊ก” สเปคไว้ไม่ใส่ในรุ่นราคาถูก อันนี้ได้ใจไปเต็ม ๆ เลยครับ
กล้องหลังความละเอียด 16 MP F/2.0 มีการใช้เซ็นเซอร์ถ่ายภาพของ SONY IMX298 CMOS แบบเดียวกับรุ่นแพง ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 8 MP F/2.4 ทั้งสองผนวกเข้ากับเทคโนโลยี NeoVision 5.8 เพิ่มความเร็วทั้งการเปิดกล้องและโฟกัสให้เร็วขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับรุ่นก่อน
ทดสอบใช้งานจริง
ถึงแม้ว่าราคาจะถูกแต่สเปคก็ไม่ได้ถูกตาม หัวใจของสมาร์ทโฟนก็คือ CPU ซึ่งบางแบรนด์นิยมลดต้นทุน ด้วยการใช้หน่วยประมวลผลราคาถูก แต่รุ่นนี้ได้ถึง Snapdragon 617 Octa-core ที่ทำงานได้อย่างลื่นไหล แถมยังรองรับโมเด็ม X8 LTE ความเร็วสูงสุด 300 Mbps อีกทั้งยังใช้ VoLTE (การสื่อสารทางเสียงผ่านโครงข่าย 4G) ถ้าหากเครือข่ายรองรับ
RAM 3 GB เหมือนออกแบบมาเพื่อการแบ่งสองหน้าจอยังไงยังงั้น ใช้งานได้อย่างลื่นไม่มีสะดุด นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับ ROM 32 GB หน่วยความจำเครื่องขนาดใหญ่สะใจ แต่ถ้าหากยังไม่จุใจก็เพิ่ม microSD แทนการใช้งานซิมที่สองก็ยังได้ครับ ซึ่งอันที่จริงแนะนำให้ใส่ซิมที่สองเป็นซิมเติมเงินถูก ๆ เอาไว้เล่นเน็ตจะคุ้มกว่า
แบตเตอรี่ในตัวเครื่องใส่มา 2,800 mAh แต่แอบเสียดายที่ไม่รองรับ Fast Charge ส่วนการใช้งานจริงสามารถใช้งานได้ประมาณ 8 ชั่วโมง (เลิกงานพอดี) แต่ถึงอย่างไรก็ควรมีแบตเตอรี่สำรองไว้เผื่อฉุกเฉินสักหน่อย
ระบบปฎิบัติการ และฟีเจอร์
ระบบปฏิบัติการ Android 5.1.1 ถึงแม้จะไม่ใช่ Marshmallow แต่ก็สัมผัสไม่ได้ถึงความแตกต่างเวลาใช้งาน เพราะถูกครอบด้วย nubia UI 3.9.6 อีกทีหนึ่ง การตอบสนองของอินเตอร์เฟซค่อนข้างดีมาก Bloatware ที่ฝังมากับเครื่องก็มีน้อยมากลบออกได้สบาย
UI + UX หน้าตาสวยงามกว่า Pure Android สามารถสลับแอปพลิเคชัน และเข้าถึงการตั้งค่าได้โดยง่ายดาย ไม่กินทรัพยากรของเครื่อง หากใครเคยใช้ MIUI มาก่อนก็น่าจะชอบ nubia UI เช่นกัน
ขอบหน้าจอสามารถปรับแต่ง Edge Gesture ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น (หรือไม่ก็งงกว่าเดิม) ความแปลกอันนี้ชอบเป็นการส่วนตัวเพราะไม่ซ้ำใคร ช่วงแรกอาจงงหน่อยแนะนำให้ค่อยปรับทีละฟีเจอร์
พระเอกของเรามาแล้ว แบ่งสองหน้าจอ ความสามารถชั้นสูงบน Android ที่น้อยแบรนด์จะทำได้ (และน้อยแบรนด์ที่จะทำได้ดี) อันนี้ให้ 10 คะแนนเต็ม เพราะใช้งานง่ายและใช้ได้จริงโดยไม่ปวดหัวมากนั้น แอปพลิเคชันทั้งหมดต่างทำงานอย่างอิสระ แถมยังปรับสัดส่วนขนาดหน้าจอได้ว่าจะให้ทำงานบนขนาดจอที่เหลืออยู่จริง หรือจะตรึงแนวระยะเดิม
ทดสอบประสิทธิภาพผ่านแอปพลิเคชัน AnTuTu ได้ไป 44,206 คะแนน ทำได้ไม่เลวเลยทีเดียวกับสมาร์ทราคาเท่านี้ เพียงแต่ว่าหากเทียบกับตัว TOP ในอดีตบางรุ่นยังแพ้อยู่พอสมควร แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ต้องเศร้าไปเพราะว่าคะแนนเท่านี้ก็เหลือเฟือสำหรับการใช้งานทั่วไป รวมถึงการเล่นเกมในปัจจุบัน (CPU บางรุ่นแรงแต่ไม่ใช่ตัวพิมพ์นิยมอย่าง Snapdragon ใช้แล้วกระตุกก็มี)
กล้องและฟีเจอร์
NeoVision 5.8 ช่วยให้สามารถเปิดกล้องได้อย่างรวดเร็ว สามารถเลือกโหมดธรรมหรือโปรได้ ปรับความเร็วชัตเตอร์ ได้ตั้งแต่ 1/60000 ไปจนถึง 2 วินาที รวมถึงค่า ISO และความยาวโฟกัส ส่วนลูกเล่นของกล้องก็มีมากมายในเลือกสรรค์ เช่น วาดแสง, ชัตเตอร์ช้า, วิถีเคลื่อนไหว, ฯลฯ
ตัวอย่างภาพต้นฉบับสามารถคลิกไปดูได้ที่ Imgur โดยทั้งหมดที่ผมถ่ายเปิดโหมด Auto ในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันไป สามารถโฟกัสได้เป็นอย่างดี ในสภาวะแสงน้อยอาจมีการชดเชยแสงที่ผิดเพี้ยนไปบ้างเล็กน้อย
ข้อดี
- สเปคที่ได้เกินราคาไปมาก
- รองรับการแบ่งหน้าจอ
- ลูกเล่นกล้องมีเยอะ
ข้อเสีย
- ไม่แถมหูฟังในกล่อง
- เวอร์ชันระบบปฏิบัติการเก่าไปนิด
สรุป
ราคาที่จ่ายไปถูกมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มา ตัวเครื่องงานประกอบดีเยี่ยม มีสเปคที่เพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป แถมยังรองรับสองซิม ถึงแม้ว่าจะสู้เรือธงไม่ได้แต่ลูกเล่นที่ให้มาก็เยอะพอสมควร ในส่วนช่วงราคาไม่เกินหมื่น Nubia Z11 mini น่าจะกินขาดในเกือบทุกแบรนด์
หมายเหตุ – บทความนี้เป็น Advertorial