อาการบ้านหมุนน่าจะเป็นอาการที่หลาย ๆ คนเคยประสบกันมาก่อน บางคนอาจจะมีอาการบ้านหมุนเล็กน้อยหลังจากลุกจากโซฟา หรือหลังจากนั่งหรือนอนกับที่เป็นเวลานาน ๆ หรือบางคนก็อาจมีอาการบ้านหมุนจนคลื่นไส้ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการบ้านหมุนนั้นไม่ใช่โรค แต่ผู้คนมักจะเรียกว่าโรคบ้านหมุน อย่างไรก็ตาม อาการบ้านหมุนนั้นก็เป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด และโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งการที่เราจะรู้ได้ว่าเราเสี่ยงที่จะเป็นโรคไหนนั้น อาจมีการสังเกตตัวเอง ทำการศึกษารายละเอียดของโรค หรือให้แพทย์วินิจฉัย

โรคบ้านหมุน-1

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดอาการเป็นอย่างไร?

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดเกิดจากการที่ตะกอนหินปูนในหูชั้นในที่ทำหน้าที่ในการรับรู้การทรงตัวหลุดออกมาจากกระเปาะ จึงทำให้เกิดอาการบ้านหมุน หรือที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นโรคบ้านหมุน โดยอาจสังเกตว่าศีรษะเราไปกระแทกกับอะไรหรือเปล่า หรือเรามีการเล่นเครื่องเล่นที่มีการเหวี่ยงอย่างรุนแรงหรือไม่ นอกจากนี้ก็ควรสังเกตว่ามีอาการบ้านหมุนเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวไหม เวียนไม่นานเกิน 1-5 นาทีหรือเปล่า มีอาการตาดำกระตุกสองข้างไปในทิศทางเดียวกันและทำให้ภาพสั่นหรือไม่ รวมถึงไม่มีอาการหูอื้อ หรือเสียงดังในหูใช่หรือไม่ เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบประสาทหูหรือการได้ยิน โดยอาการที่ได้กล่าวไปเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณเตือนของโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดทั้งสิ้น

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันอาการเป็นอย่างไร?

โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเป็นอีกโรคหนึ่งที่หลาย ๆ คนคิดว่าเป็นโรคบ้านหมุน แต่โรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้นจริง ๆ แล้วเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน เนื่องจากมีน้ำในหูมากเกินไป ซึ่งหูชั้นในของเราจะทำหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว โดยโรคน้ำในหูไม่เท่ากันนั้นจะมีอาการสูญเสียการได้ยิน หูอื้อ ได้ยินไม่ชัด รู้สึกแน่น ๆ ในหูแบบเป็น ๆ หาย ๆ นอกจากนี้ก็อาจมีอาการเสียงดังในหู เวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ ปวดหัว หรืออาเจียน ซึ่งส่วนมากจะพบในคนที่เริ่มมีอายุมากประมาณ 30-60 ปี และอาจเป็นแค่หูข้างเดียวหรือสองของก็ได้เช่นกัน

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าจริง ๆ แล้วโรคบ้านหมุนนั้นไม่มี แต่อาการบ้านหมุนอาจเป็นอาการของโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้ ซึ่งเราก็สามารถแยกสองโรคนี้ได้ไม่ยาก เพราะโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดจะไม่มีอาการหูอื้อ หรือเกี่ยวข้องกับระบบประสาทหูเหมือนโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน แต่หากคุณสงสัยว่าจะเป็นโรคบ้านหมุนไหม หรือที่จริง ๆ แล้วคือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะดีที่สุด

หมายเหตุ – บทความนี้เป็น Advertorial