หลังจาก เก็บตกงานเปิดตัว Plantronics Voyager Edge และ Backbeat Fit ก็มีหลายคนถามมาเหมือนกันเกี่ยวกับเรื่องรีวิวในแฟนเพจของเรา ทีนี้ฤกษ์งามยามดีเลยถือโอกาสมารีวิว Plantronics Voyager Edge กันเสียเลย

Plantronics - Voyager Edge (1)

Plantronics Voyager Edge ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 4,590 บาท สามารถหาซื้อได้ที่ บริษัท ซิสเท็ม 2000 จำกัด ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หรือตามร้านขายอุปกรณ์เสริมชั้นนำใกล้บ้านท่าน

Plantronics - Voyager Edge (2)

Voyager Edge ถูกออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้งานบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยเฉพาะ อีกทั้งยังได้มาตรฐาน MFi จาก Apple ซึ่งตัวนี้เองทาง Plantronics ใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างนานจนออกมาเป็น Voyager Edge

Plantronics - Voyager Edge (3)

สเปค Voyager Edge

  • มาพร้อมเทคโนโลยี Bluetooth 4.0 ที่ประหยัดพลังงานแบบสูงสุด
  • รองรับการเชื่อมต่อผ่าน NFC
  • มีไมค์ในตัวถึง 3 ตัวช่วยตัดเสียงรบกวนได้อย่างแม่นยำ
  • แถม Charging case ช่วยให้ใช้งานได้ยาวนานถึง 16 ชั่วโมง
  • เคลือบ Nano-coating ในการป้องกันความชื้นและการกัดกร่อนของกรด
  • ฟีเจอร์ Voice commands สั่งงานด้วยเสียง
  • มี Smart sensor ในตัวช่วยให้รับสายโดยอัตโนมัติทันทีที่สวมใส่ และเปลี่ยนโหมดไปยังการสนทนาด้วยมือถือโดยอัตโนมัติทันทีที่ถอดออก
  • สามารถ Upgrade firmware ได้ด้วยตนเอง
  • สนทนาได้ต่อเนื่องถึง 6 ชั่วโมง และรอรับสายนานถึง 7 วัน (ไม่รวมแบตเตอรี่จาก Charging case)
  • น้ำหนักเพียง 9 กรัม

Plantronics - Voyager Edge (4)

จุดเด่นของ Voyager Edge คือสามารถรองรับได้ถึง 10 ภาษา (น่าเสียดายที่ไม่มีภาษาไทย) มีคำสั่งรับสายด้วยเสียงรวมถึงเสียงจากระบบ เช่น ระยะเวลาแบตเตอรี่คงเหลือก็สามารถแจ้งได้เช่นกัน

Plantronics - Voyager Edge (5)

อุปกรณ์ที่แถมมาภายในกล่อง

  • Voyager Edge
  • Charging case
  • หูเจลขนาดเล็ก, กลาง, ใหญ่
  • คลิปเสียบเข้ากับหูฟังพลาสติก
  • หัวชาร์จในรถยนต์
  • สาย Micro USB
  • คู่มือผลิตภัณฑ์

สำหรับที่ชาร์จไฟบ้านจะเห็นได้ว่าไม่ได้แถมมาก็ไม่ต้องแปลกใจครับ เพราะเรายังสามารถใช้ชาร์จผ่าน USB กับคอมพิวเตอร์หรือที่ชาร์จมือถือก็ยังได้ เดี๋ยวนี้ผมก็ไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่เช่นกันเพราะอุปกรณ์เหล่านี้มันใช้ร่วมกันได้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมดแล้ว

Plantronics - Voyager Edge (6)

การใช้งานก็ปกติทั่วไปใส่สบายเพราะมีน้ำหนักเพียงแค่ 9 กรัม พร้อมกับหูเจลที่ใส่สบาย (ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องใช้คลิปเสียบเข้ากับหูฟังพลาสติกก็ได้) สีที่จำหน่ายมีทั้งดำ ขาว และเทา (แต่รู้สึกไทยจะไม่มีขายสีเทา)

Plantronics - Voyager Edge (7)

รูปแบบปุ่มและการใช้งานต่าง ๆ ดูเหมือนจะปวดหัวแต่ใช้ 2-3 วันก็พอจะเดาได้ว่าปุ่มไหนเป็นปุ่มไหน

Plantronics - Voyager Edge (8)

การออกแบบ

ดีไซน์ที่ทำมาดูแล้วล้ำค่าสูงราคา ใส่แล้วแลดูเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น เหมาะกับทั้งผู้หญิงและผู้ชายแต่ดูออกเป็นกึ่งทางการมากกว่า สำหรับคนใช้ครั้งแรกอาจจะไม่ชินดูเขิล ๆ กลัวจะมีใครมองแปลก ๆ ก็ไม่ต้องกังวลไปครับ (ตอนแรกผมก็เป็น) แต่พอใส่ไปซักพักเดี๋ยวก็ชินเหมือนเป็นอุปกรณ์หนึ่งในร่างกาย ไม่ต่างกับแหวนหรือกสร้อยซักเท่าไหร่ ช่วยเสริมบุคคลิกให้คุณดูสมาร์ทขึ้น

Plantronics - Voyager Edge (9)

บลูทูธ (Bluetooth) 4.0 ที่ประหยัดพลังงานยิ่งกว่าเดิม

ตัวนี้ใช้เทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Bluetooth 4.0 เช่นเดียวกับ iPhone หรือสมาร์ทโฟนรุ่น TOP ของค่ายอื่น ข้อดีคือมันประหยัดไฟมาก ๆ ตรงนี้ต่างประเทศเคยวิจัยมาว่าหากเปิดทิ้งไว้ทั้งปีมันกินพลังงานแค่ถ่านก้อนเดียวเอง หรือก็คือ Bluetooth รุ่นเก่าใช้พลังงาน 1 หน่วยในขณะที่ Bluetooth รุ่นใหม่นี้ใช้พลังงานเพียงแค่ 0.01 ถึง 0.05 หน่วยเท่านั้นเอง (ขึ้นอยู่กับการใช้งาน)

Plantronics - Voyager Edge (10)

ใช้งานได้ยาวนานกว่าแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนของคุณ

ในสมัยก่อนเท่าที่ผมจำได้เนี่ยหากเป็น Bluetooth Headset ตัวเล็ก ๆ แบบนี้จะสามารถใช้สนทนาได้แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องชาร์จใหม่ แถมระยะเวลาการรอรับสายก็อยู่ได้ไม่นาน Voyager Edge ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อึดอะไรเวอร์แต่ระยะเวลาสนทนาก็อยู่ที่ 6 ชั่วโมง (หากใช้ร่วมกับ Charging case จะเป็น 16 ชั่วโมง) และรอรับสายสนทนาได้ถึง 7 วัน (หากใช้ร่วมกับ Charging case จะเป็น 25 วัน)

Plantronics - Voyager Edge (11)

สั่งงานด้วยเสียง (Voice commands) และตอบรับด้วยเสียง (Voice alerts)

การที่เราจะสั่งงานด้วยเสียง (Voice commands) โดยการกดปุ่มบน Voyager Edge แต่น่าเสียดายที่คำสั่งที่พูดได้มีไม่มากนัก เช่น เช็คแบตเตอรี่ สั่งเชื่อมต่ออุปกรณ์ และก็อะไรอื่นอีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้เลย ส่วนตัวคาดหวังว่ามันน่าจะสั่งโทรหรือสั่งถามเวลาและสั่งงาน Siri อะไรได้พวกนี้มากกว่า (ผมอาจจะคาดหวังมากเกินไป)

นอกจากนี้การตอบรับด้วยเสียง (Voice alerts) ทันทีที่เชื่อมต่อ ทำการเปิดเครื่อง หรือกดถามตัวของ Voyager Edge ก็จะแจ้งมาว่าแบตเตอรี่ใช้ได้อีกกี่นาทีและมีกี่อุปกรณ์ในการเชื่อมต่อ หรือแม้กระทั่งสัญญาณเชื่อมต่อหลุด ฯลฯ

อ้อ … แล้วที่ลืมบอกไปก็คือ Voyager Edge รองรับการเชื่อมต่อพร้อมกันถึง 2 อุปกรณ์ด้วยกัน หมายความว่ายังไง? หมายความว่าหากเรามีสมาร์ทโฟนสองเครื่อง (อาจจะส่วนตัวเครื่องนึงและของบริษัทเครื่องนึง) เราสามารถเชื่อมต่อทั้งสองเข้ากับ Voyager Edge แล้วทีนี้เวลามีคนโทรเข้าไม่ว่าจะเครื่องไหนก็ตามเราสามารถใช้ Voyager Edge ตัวเดียวกันในการรับสายได้

Plantronics - Voyager Edge (12)

เคสแบตเตอรี่สำรอง (Charging case) เอกลักษณ์ประจำรุ่น

ในการเดินทางแต่ละครั้งหากเราไม่ได้ใช้งาน Bluetooth Headset (ยกตัวอย่างนั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ) เราก็จะเก็บมันไว้ในกระเป๋า แล้วทีนี้ก็กังวลว่าจะมีอะไรมาทับหักหรืออะไรพวกนี้ เราก็ต้องแยกช่องเก็บต่างหากซึ่งสำหรับ Voyager Edge อันนี้มีมาเป็นเคสเลยแข็งแรงมากแค่เสียบล็อคลงไปคือจบ

นอกจากนี้เองตัวเคสยังมีแบตเตอรี่สำรองตามชื่อเมื่อเอา Voyager Edge ก็จะชาร์จเข้าทันทีอัตโนมัติ (สะดวกดี) สามารถใช้ชาร์จได้ราวรอบครึ่งนิด ๆ จากเดิมสนทนา 6 ชั่วโมงทำให้กลายเป็น 16 ชั่วโมง และตัว Charging case เองก็สามารถชาร์จไฟผ่าน Micro USB ได้เหมือนกับ Voyager Edge ครับ

สิ่งที่ชอบถึงขั้นเซอร์ไพรส์ : สำหรับ Charging case ทำงานบนระบบสัมผัสแบบ 100% ทันทีที่มันสัมผัสกับผิวหนังมนุษย์ (พูดราวกับลูกสนิชสีทองในแฮร์รี่ พอตเตอร์เลย) ไม่ว่าจะฝั่งสัญลักษณ์ซ้ายหรือขวาก็ตามมันจะขึ้นไฟ LED แสดงสถานะแบตเตอรี่ทันทีครับ มหัศจรรย์มาก ๆ แถมทำงานตลอดเวลาอีกต่างหาก แตะปุ๊บโชว์ปั๊บเลย แต่ถ้าเป็นวัตถุอื่นไปโดนเข้ามันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นครับ

ถึงแม้จะดูดีแต่ข้อติตรงนี้ก็ยังมีอยู่คือ “ไม่มีปุ่มเปิดปิด” หมายความว่าทันทีที่ Charging case สัมผัสกับ Voyager Edge ก็คือชาร์จเลยไม่มีทางเลือกให้ลูกค้าแต่อย่างใด

Plantronics - Voyager Edge (13)

ระดับแบตเตอรี่จะแสดงแยกทั้งตัว Charging case และ Voyager Edge ทันทีที่สัมผัส มองจากสัญลักษณ์แล้วดูง่ายดีแต่น่าจะแสดงผลซัก 4 ระดับกำลังดี

Plantronics - Voyager Edge (14)

รอบข้างโดยรอบเป็นยางเข้าใจว่าออกแบบมาเพื่อซับแรงกระแทกด้วย ส่วนตรงปลายเป็นที่คล้องอเนกประสงค์ ด้านล่างเป็นแบบเรียบง่ายไม่มีอะไรพิเศษครับ

Plantronics - Voyager Edge (15)

มี NFC คงได้ใช้กับเขาซักที (นะ)

NFC คือ Near Field Communication ระบบการเชื่อมต่อที่จะเป็นอนาคต ในส่วนทางเทคนิดผมคงไม่เจาะลึกมาก แต่การใช้งานก็คือการนำชิปที่อยู่ภายในสองส่วนมาสัมผัสกัน (RFID) เพื่อยืนยันข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแต่อย่างใดด้วยระยะห่างไม่เกิน 4 มิลลิเมตร

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เวลาซื้อสมาร์ทโฟนจะเน้นสเปคและการรองรับอนาคตเป็นหลัก (เคยซื้อมือถือรอ 3G ในขณะที่ไทยยังไม่เปิดให้บริการจนเครื่องมันเจ๊ง) และ NFC ก็เช่นเดียวกันเท่าที่ซื้อมายังหาอุปกรณ์ใช้ด้วยไม่ค่อยได้เลย พวกที่เป็นลำโพงก็ดันมีราคาสูงเกินไป ครั้นจะเอาไปใช้กับร้านค้าก็ยังไม่มีที่ไหนรับ ส่วนพวกขนส่งมวลชนอย่าง BTS ก็ดันวุ่นวายเกินกว่าจะใช้งาน (ต้องใช้ซิม AIS และเครื่อง Samsung เท่านั้น)

คราวนี้ก็มีโอกาสได้ใช้กับ Voyager Edge นี่แหล่ะ ไม่จำเป็นต้องเปิด Bluetooth ไม่ต้องค้นหาสัญญาณหรือ Pair ให้วุ่นวายเพียงแค่นำไปแตะกับสมาร์ทโฟนที่มี NFC เป็นอันเรียบร้อยพร้อมใช้งาน ง่ายไหมล่ะ?

Plantronics - Voyager Edge (16)

เมื่อนำไปสัมผัสกับสมาร์ทโฟนจะขึ้นให้ยืนยันครับว่าคุณต้องการที่จะ Pair หรือไม่? ก็ตอบ Yes ไปครับ อันนี้ไม่สามารถใช้กับ iPhone ทุกรุ่นได้นะเพราะมันไม่มี NFC หากใครอยากรู้ว่าสมาร์ทโฟนรุ่นไหนมี NFC บ้างก็ศึกษารายละเอียดกับคนขายได้เลย แต่ส่วนมากรุ่นแพง ๆ จะมีกันหมดแล้ว

Plantronics - Voyager Edge (17)

ทดสอบใช้งานจริง

Voyager Edge สวมใส่ได้ง่ายมากจากการใช้งานทั้งวันก็ไม่มีหลุด ไมค์ตัดเสียงรบกวนสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี เท่านี้ไม่พอยังรองรับ HD Voice อีกด้วย (ถ้าจำไม่ผิดมีแค่สองเครื่องข่ายที่รองรับคือ Dtac และ AIS) แต่อันนี้คงไม่สามารถทดสอบให้ได้เหมือนกันว่ามันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพราะ iPhone ก็รองรับ HD Voice ซึ่งผมยังมองไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง

การใช้งานร่วมกับ Android ที่มี NFC ช่วยให้ชีวิตการใช้งานง่ายขึ้นเพียงแค่ “แตะ”

Plantronics - Voyager Edge (18)

เมื่อมีสายเข้ามาก็สามารถรับได้ด้วยการพูดว่า “Answer” หรือไม่อยากรับก็พูดว่า “Ignore” (พูดให้ชัด ๆ หน่อยนะครับ) โดยตัว Voyager Edge สามารถบอกรายชื่อคนโทรเข้าได้เลย แต่น่าเสียดายที่หล่อนพูดเร็วมากจนผมฟังไม่รู้เรื่องเหมือนกันว่าใครเป็นใคร (ต้องบันทึกชื่อเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นนะครับ)

Plantronics - Voyager Edge (19)

โดยรวมแล้วสามารถใช้งานได้คล่องตัวดี เท่าที่ทดสอบดูคู่สนทนาได้ยินเสียงชัดมากถึงแม้อยู่ในสภาวะริมถนนก็ตาม หากให้เปรียบเทียบก็คุณภาพดีพอ ๆ กับระบบตัดเสียงรบกวนของ iPhone เลยทีเดียว ดีถึงขนาดที่ว่านั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมฯ เปิดเพลงฟังไปด้วยก็สามารถคุยกับลูกค้าได้โดยที่ลูกค้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราฟังเพลงอยู่ โดยรวมแล้วประทับใจครับ

ส่วนอีกฟีเจอร์ที่ชอบก็จะเป็น Smart sensor สำหรับคนที่ไม่ชอบใส่ไว้ตลอดเวลาก็วางไว้ที่โต๊ะก็ได้ครับ เวลาคนโทรเข้ามาค่อยเอา Voyager Edge มาเสียบหูไม่จำเป็นต้องเสียงคาไว้ตลอดเวลา หรือถ้าอยากรับด้วยสมาร์ทโฟน (ยกตัวอย่างเช่นการส่งให้เพื่อนคุย) ก็เพียงแค่ดึง Voyager Edge ออกจากหูเพียงเท่านี้ก็จะเป็นการสลับโหมดไปเป็นการสนทนาด้วยสมาร์ทโฟนอัตโนมัติ

Plantronics - Voyager Edge (20)

สำหรับคนใช้งาน iPhone ไม่มี NFC ก็ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะถ้าใช้ iPhone สามารถเช็คปริมาณแบตเตอรี่ได้เลยผ่านทาง Status bar ดังภาพด้านบนข้าง ๆ กับสัญลักษณ์ Bluetooth ไม่จำเป็นต้องลงแอปฯ อะไรเพิ่มครับ (แต่ถ้าเป็น Android ต้องลง Widget เพิ่ม)

Plantronics - Voyager Edge (21)

หากเมื่อทำการ Pair เรียบร้อยเมื่อคนโทรเข้ามาจะมีสัญลักษณ์แบบนี้ครับ และริงโทนก็จะดังทั้งที่ตัวสมาร์ทโฟนพร้อมกับบอกรายชื่อคนโทรเข้าผ่าน Voyager Edge ของเราด้วยเลย

Plantronics - Voyager Edge (22)

ทีนี้มาดูในฝั่ง iPhone ก็ไม่ได้แตกต่างกันมีการแจ้งรายชื่อคนโทรเข้าตามปกติ ซึ่งตอนที่ Pair ครั้งแรกตัวเครื่องจะแจ้งขอเข้าถึงรายชื่อทั้งหมดของ iPhone เราครับ

VDO โฆษณาสาธิตการใช้งานคร่าว ๆ จากทางผู้ผลิต

ข้อดี

  1. ไมค์ตัดเสียงรบกวนถึง 3 ตัว
  2. รองรับ NFC และ Bluetooth 4.0
  3. แถม Charging case ช่วยให้ใช้งานได้ยาวนานถึง 16 ชั่วโมง
  4. มี Smart sensor ในตัวช่วยให้รับสายโดยอัตโนมัติทันทีที่สวมใส่

ข้อเสีย

  1. มีแอปฯ รองรับเยอะ แต่ใช้งานไม่ได้หรือไม่เหมาะกับบ้านเรา
  2. คำสั่งด้วยเสียงยังรองรับไม่เยอะนัก
  3. ราคาสูง

สรุป

ด้วยประสบการณ์ที่ได้ถึงว่าค่อนข้างสมบูรณ์แบบในการใช้งานเลยทีเดียว ส่วนตัวประทับใจมากกับ Charging case (ถึงแม้มันจะไม่มีปุ่มปิดให้ก็ตาม) แล้วก็ Smart sensor ที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อน การใช้งานพื้นฐานอย่างสนทนาก็ตอบโจทย์ได้เยี่ยมเลยทีเดียว หากให้ติหน่อยก็คงเป็นเรื่องราคาที่แอบสูงไปนิด แต่ก็อย่างว่าแหล่ะเคสมือถืออันละพันเรายังจ่ายได้ แล้วทำไมบลูทูธอันละสี่พันจะจ่ายไม่ได้?