ฮาร์ดดิกส์ภายนอก (External Harddisk) ออกแบบมาสำหรับคนที่ต้องการสำรองข้อมูลไฟล์ใหญ่กว่าแฟลชไดร์ว แต่ก็มีข้อเสียเรื่องขนาดและไม่กันกระแทก WD My Passport SSD จึงกลายมาเป็นส่วนเติมเต็มที่ผู้ใช้งานจะได้ทั้งขนานที่เล็ก, น้ำหนักเบา, โหลดข้อมูลได้เร็ว และที่สำคัญคือไม่ต้องห่วงเรื่องการกระแทก

WD My Passport SSD
WD My Passport SSD

WD My Passport SSD

สำหรับราคาและความจุ ตามข้อมูลหน้าเว็บไซต์ WD.com มีให้เลือกตั้ง 256GB, 512GB และ 1TB โดยมีราคาขายปลีกอยู่ที่ 3,990/7,990/15,990 ตามลำดับ และตัวที่เราจะมารีวิวในวันนี้เป็นรุ่นกลาง 512GB

หากเทียบราคากับ External Harddisk ทั่วไปยอมรับตามตรงว่าตัวนี้แพงกว่าเกือบสิบเท่า! ซึ่งถึงแม้ว่าจะเทียบกับรุ่น My Passport Wirless Pro ก็ยังถือว่าแพงกว่าอยู่ดี แต่ทีนี้มาดูสิ่งที่คุณจะได้กันครับ

  • เร็วกว่าอย่างเห็นได้ชัด : ความเร็วสูงสุด 515MB/s โดยใช้พอร์ต USB Type-C เพื่อถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเสมือนใช้งานบนคอมพิวเตอร์
  • การเข้ารหัสฮาร์ดแวร์ : สามารถตั้งรหัสผ่านเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัย ด้วยการเข้ารหัสฮาร์ดแวร์ AES 256 บิตในตัวด้วยซอฟต์แวร์ WD Security
  • เทคโนโลยีล้ำยุค : สามารถทำงานร่วมกับพอร์ต USB Type-C และ USB-Type-A พร้อมความเร็วถึง 515MB/s นอกจากนี้ USB 3.1 Gen 2 พร้อมและรองรับ USB 3.0, 2.0 และ USB-A

นอกจากนี้ประโยชน์ที่ได้ก็คือขนาดเล็กลง เหลือเพียงแค่ 10 x 45 x 90 มม. และน้ำหนักที่เบาลงกว่าเดิมเยอะ แถมด้วยความที่มันเป็นหน่วยความจำแบบแฟลช จึงไม่ต้องกังวลเรื่องตกกระแทกหรือปัญหาหัวอ่านภายใน นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับการรับประกัน 3 ปี

ผ่านการทดสอบการกันกระแทกการตกหล่นในระดับ 6.5 ฟุต (เกือบสองเมตร) ซึ่งเปรียบเทียบได้กับความแรงในระดับ 1500G

เท่ากับว่าการใช้งานระดับการถือหรือวางบนโต๊ะทั่วไป การตกหล่นไม่อาจทำให้ข้อมูลของคุณเสียหายอย่างแน่นอน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับฮาร์ดดิสก์แบบเก่า ที่หล่นไม่ถึงฟุตก็มีโอกาสเสียหายได้แล้ว ถือว่าเป็นการซื้อความปลอดภัยของข้อมูลไปในตัวด้วยครับ

อุปกรณ์ภายในก็มาแบบเรียบง่ายไม่มีอะไรมาก พร้อมกับสาย USB-C > USB-C ที่รองรับคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ รวมถึง MacBook และ MacBook Pro ก็ต่างเปลี่ยนมาใช้พอร์ตนี้กันหมดแล้ว (และเชื่อว่าในอนาคตคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องก็จะเป็นแบบนี้)

เมื่อเทียบกับขนาดสายดูเหมือนตัวเครื่องจะเล็กลงไปเลย

การเชื่อมต่อเป็นมาตรฐาน USB-C ไม่ใช่ Micro USB แบบโบราณทั่วไป และตอนนี้ข่าวดีก็คือ Android รุ่นใหม่ ๆ เปลี่ยนไปใช้พอร์ตนี้กันหมดแล้ว คุณจึงสามารถใช้สายร่วมกันได้อย่างสะดวก

ด้านหลังเมื่อเทียบกับขนาดอุ้งมือ

ด้านหน้าเมื่อเทียบกับขนาดอุ้งมือ

ทดสอบใช้งานกับ MacBook Pro รุ่น 15 นิ้ว ที่มาพร้อมกับ USB-C

ทดสอบกับ BlackMagic อัตราการอ่านและเขียนได้ออกมาประมาณ 387MB/s และ 294MB/s ซึ่งผลการเขียนออกมาก็ได้ใกล้เคียงกับของคุณ kafaak ที่ทดสอบบน Microsoft Surface Pro 3 และ Lenovo Helix (รุ่นแรก) ซึ่งการใช้งานจริงกับผลทดสอบที่ผู้ผลิตอ้างมักแตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะมีปัจจัยหลายประการนั่นเอง

แต่คนที่เครื่องไม่มี USB-C ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะทาง WD ก็ได้แถวหัวต่อมาให้เช่นกัน เผื่อใครเอาไปใช้กับเครื่องรุ่นเก่าก็สามารถใช้ร่วมกันได้ แต่อย่างที่บอกคือความเร็วก็จะลดลงไปอีก (แต่ก็ยังดีกว่าใช้งานไม่ได้เลย) เอาเป็นว่าหากคุณมีเครื่องรุ่นใหม่ก็จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพครับ เร็วกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนที่อยู่ในเครื่องอีก

ข้อดี

  1. ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาง่าย
  2. ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลสูง
  3. เชื่อมต่อผ่าน USB-C
  4. มีหัวแปลงแถมมาเผื่อให้
  5. การรับประกัน 3 ปี

ข้อเสีย

  1. ราคาต่อความจุแพง
  2. หากคุณใช้คอมเก่าอาจไม่สะดวก

สรุป

คุณภาพก็สูงตามราคา (แต่ดูเหมือนราคาจะสูงเยอะไปหน่อย) เหมาะกับงานที่ต้องโอนถ่ายข้อมูลด่วนตลอดเวลา รวมถึงการทำงานผ่าน External Harddisk ที่ให้ความเร็วแทบไม่ต่างจาก SSD ที่อยู่ในเครื่อง ถ้าคุณทำงานสายภาพยนตร์หรือต้องโอนถ่ายไฟล์ขนาดใหญ่ตลอดเวลา สิ่งนี้อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณ