การสำรองข้อมูลปัจจุบันอินเทอร์เน็ตแรงขึ้น แต่ถึงอย่างไรการใช้งาน HDD External ก็จำเป็นอยู่ WD My Passport Ultra for Mac ถูกออกแบบมาตามสมัยนิยมเพื่อใช้ USB-C และยังให้ความง่ายกับผู้ใช้งาน macOS ด้วยการฟอร์แมทเป็น HFS+ มาให้จากโรงงานรองรับ High Sierra, Sierra หรือ El Capitan แต่ทั้งนี้ก็ยังสามารถใช้กับ Windows ด้วยการดาวน์โหลด HFS Driver มาเพิ่มเติม (หรือจะฟอร์แมทก็ได้)

WD My Passport Ultra for Mac
WD My Passport Ultra for Mac

WD My Passport Ultra for Mac

WD มีให้เลือกสองความจุคือ 2TB และ 4TB ส่วนราคาก็อยู่ที่ 1,890 และ 3,790 บาท ตามลำดับ (ซื้อจริงอาจถูกกว่านี้แล้วแต่โปรโมชั่น) จุดเด่นก็คือมันเป็น USB-C ตามสมัยนิยม แต่หากใครยังใช้อุปกรณ์ที่เป็น USB-A รุ่นนี้ก็ยังคงน่าสนใจอยู่เพราะมีหัวแปลงมาให้ และเป็นการซื้อใช้งานเผื่ออนาคตได้อีกทางหนึ่ง

รุ่นนี้จะเป็นดีไซน์มาในรูปแบบ Metal ดูเหมือนว่าคล้ายจะเป็นโลหะ แต่ความจริงแล้วเป็นพลาสติกที่ดูหรูหราเกินราคา สำหรับเรื่องขนาดและน้ำหนักจะดูหนากว่าปกติเล็กน้อย เพราะตัวที่รีวิวเป็นความจุ 4TB แต่หากเทียบกับแบรนด์คู่แข่งแล้วก็ไม่ได้ต่างกันมากครับ เน้นความชอบเรื่องของดีไซน์กับราคาดีกว่านาทีนี้

ขนาดและน้ำหนัก

ทั้งสองมีขนาดอยู่ที่ 81.6 x 110 มม. แต่ต่างกันที่ความหนาและน้ำหนัก

  1. 2TB ความหนา 12.8 มม. น้ำหนัก 130 กรัม
  2. 4TB ความหนา 20.96 มม. น้ำหนัก 230 กรัม

และที่สำคัญก็คือการได้รับการรับประกันเหมือนกันก็คือ 3 ปี

มาดูด้านบนกันบ้างตรงนี้จะมีไฟ LED เพื่อแสดงสถานะการทำงาน ถัดไปก็จะเป็นพอร์ต USB-C ที่เป็นพระเอกของเรานั่นเอง โดยทาง WD ได้พ่วงเอา Software สำหรับการเข้ารหัสมาให้ฟรีด้วย สำหรับคนที่เอาไว้เก็บข้อมูลสำคัญ ด้วยรหัสผ่านมาตรฐาน 256-bit (AES Hardware Encryption) ปลอดภัยแน่นอน

สายที่แถมมาให้ก็จะเป็น USB-C > USB-C แต่ก็มีตัวแปลงเป็น USB-A มาด้วย

วิธีใช้งานก็เสียบเข้าไปตรง ๆ มันจะมีข้อล็อคอยู่นิดหน่อยดูแล้วพอดีกัน

WD My Passport Ultra for Mac กับ Windows ต่างกันอย่างไร ?

ความพิเศษของรุ่น for Mac ก็คือการทำฟอร์แมต HFS+ มาจากโรงงานเลย (ถ้าหาก Windows จะอ่านไฟล์จากตัวนี้ต้องใช้ Driver เพิ่มเติม) แต่สำหรับรุ่น for Windows หรือรุ่นทั่วไปก็จะเป็นฟอร์แมต NTFS ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี (macOS อ่านได้แต่เขียนไม่ได้ ยกเว้นแต่ลงโปรแกรมเพิ่มเติม) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากใครไม่ชอบก็สามารถไปฟอร์แมตใหม่เองได้ไม่มีปัญหา สิ่งที่ทาง WD ทำมาให้ก็จะเป็นเรื่องความสะดวกมากกว่า

เมื่อเริ่มเสียบใช้งานก็จะมีไฟ LED ส่วนในระบบก็จะแยกไดร์ฟออกมาเป็น Untitled สำหรับเก็บข้อมูลปกติ แล้วก็จะมีไดร์ฟที่เป็น Software อย่างเช่น WD Discovery, WD Drive Utilities และ WD Security แยกออกมาให้ เพื่อใช้งานจัดการอุปกรณ์ ตัวช่วยในการสำรองข้อมูล การเข้ารหัสของไดร์ฟอะไรก็ว่าไป

ใช้งานจริงกับ MacBook Pro ก็เป็นที่น่าประทับใจดี สามารถเสียบได้อย่างไม่ต้องมาวิ่งหาหัวแปลง ส่วนความเร็วของพอร์ต USB 3.1 Gen 1 นั้นอยู่ที่ 5 Gbps หรือสูงสุด 625 MB/s ก็เรียกได้ว่าเหลือเฟือ (แม้ว่าความเร็วของจานหมุนมันจะไม่ถึงก็ตาม) ช่วยให้การสำรองข้อมูลเป็นไปอย่างง่ายและรวดเร็ว

Disk Speed Test
Disk Speed Test

ทดสอบความเร็วกับโปรแกรม Disk Speed Test สามารถทำความเร็วอ่านอยู่ที่ 111.3 MB/s และเขียนอยู่ที่ 118.8 MB/s โดยอุปกรณ์ที่ผมใช้ก็คือ MacBook Pro 15″ รุ่นปี 2016 ความเร็วออกมาเป็นที่น่าประทับใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุน อันนี้ไม่ได้ทดสอบกับ Windows แต่คงไม่ต่างกันมากนัก แต่ถ้าหากใครอยากได้เร็วแบบขีดสุดไม่สนใจราคา เราขอแนะนำ WD My Passport SSD แทนครับ

ข้อดี

  1. ดีไซน์สวยงามคล้ายโลหะ
  2. มาพร้อมกับ Software จากทาง WD
  3. พร้อมใช้งานกับ macOS ทันทีจากโรงงาน
  4. เชื่อมต่อผ่าน USB-C พร้อมหัวแปลง USB-A

ข้อเสีย

  1. มีให้เลือกแค่ 2 ความจุ (2, 4 TB)
  2. ราคาสูงกว่ารุ่น USB-A ทั่วไป

สรุป

ด้วยชื่อเสียงของ WD ทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพ และสำหรับรุ่น WD My Passport Ultra for Mac ก็จะพิเศษกว่ารุ่นทั่วไปสักเล็กน้อย (รวมถึงราคา) แต่สำหรับคนที่ต้องการใช้ USB-C ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะอนาคตทุกอุปกรณ์ (ควรจะ) เป็นแบบนี้กันหมดแล้ว ซื้อทั้งทีจะไปเอาอุปกรณ์รุ่นเก่าไปทำไมกัน จริงไหม ?