ถึงแม้ว่า ASUS FonePad จะค่อนข้างที่จะเก่าแล้ว แต่ก็ไม่ถึงขั้นไม่มีใครเอาหรอกนะ สำหรับตัวผมแล้วเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะเซอร์ไพร์สมากกับรุ่นนี้ เพราะนอกจากจะราคาถูกแล้วยังแฝงไปด้วยคุณภาพคับเครื่องอีกด้วย (เข้าใจว่าส่วนหนึ่ง Intel คงจะซัพพอร์ทให้ ASUS เลยทำราคานี้ได้)
สเปค ASUS Fonepad
- ระบบปฏิบัติการ : Android OS 4.1
- หน่วยประมวลผล : Intel Atom Z2420 1.2 GHz (Single Core – Hyperthreaded)
- กราฟฟิค : PowerVR SGX540
- หน้าจอ : 7″ IPS (800 x 1280 พิกเซล)
- แรม : 1GB
- รอม : 32GB (รองรับ microSD สูงสุด 32GB)
- กล้องหลัง 3.1MP (รองรับการถ่ายวิดีโอได้ที่ 720p)
- กล้องหน้า 1.2MP
- รองรับ 3G : HSDPA 850/900/1900/2100 ทุกเครือข่าย
- ไร้สาย : WiFi B/G/N, Bluetooth 3.0, A-GPS
- แบตเตอรี่ : Li-Ion 4,270 mAh
- ขนาด : 196.4 x 120.1 x 10.4 มม.
- น้ำหนัก 340 กรัม
- ราคาเปิดตัว : 7,900 บาท (ลดเหลือ 6,900 บาท)
โดนเด่นเหนือใครด้วยราคาและคุณภาพ
หากเทียบราคาตอนนี้แล้วก็ถือว่าไม่แพงเลย เพียงแค่ 6,900.- คุ้มยิ่งกว่าเดิมไปอีก (ใครหาได้ถูกกว่านี้ก็บอกด้วยนะครับ) ขนาดของ ASUS FonePad นั้นอยู่ในระดับที่พอดีมือและออกแนวเกิน ๆ ไปด้วยซ้ำ จุดเด่นตรงที่มันเป็น Tablet ที่โทรได้ (หรือที่เรียกกว่า Phalet) แถมยังรองรับซิมทุกเครือข่ายในบ้านเรา
x86 Intel Atom คืออะไร?
ถ้าจะให้เล่าก็คงยาวมากครับ เพราะจริง ๆ แล้วมือถือและแท็บเล็ตกว่า 99.99% บนโลกเราเนี่ย ใช้หน่วยประมวลผล (CPU) แบบ ARM Based จุดเด่นก็คือปล่อยความร้อนน้อย ขนาดเล็ก กินไฟต่ำ ฯลฯ ส่วนโน๊ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วโลกนั้นใช้หน่วยประมวลผล (CPU) แบบ x86 ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก ซึ่งตอนนี้มีเพียง Intel และ AMD เป็นเจ้าตลาด
ทีนี้ตลาดมือถือและแท็บเล็ตก็โตขึ้นทุกวัน ๆ ส่วนแบ่งการจำหน่อยคอมพิวเตอร์ก็ชะลอลงเรื่อง ๆ ทาง Intel ก็อยากจะกินในส่วนนี้บ้าง จึงพัฒนา x86 เพื่อให้สามารถยัดลงมือถือและแท็บเล็ตได้ (ถึงแม้ว่าข้อจำกัดจะมากก็ตาม) สุดท้ายแล้วก็ทำออกมาจนได้ จึงมีการชิมลางลงอุปกรณ์หลาย ๆ ตัว และ ASUS FonePad ก็คือหนึ่งในนั้นนั่นเอง
แต่ถึงแม้จะเป็น Intel Atom ที่เป็น x86 ไม่ได้เป็น ARM เหมือนชาวบ้านเขา แต่ก็ไม่น่าห่วงเรื่องของการใช้งานกับ App ของ Android แต่อย่างใด เพราะเท่าที่ได้ลองมาก็สามารถใช้ได้หมด ไม่ว่าจะเป็น Instagram, Facebook, LINE, Hangouts, Twitter, Google+ หรือเกมส์ทั้งหลายทั้งแหล่ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่ Single-Core แต่ด้วยความที่ Intel เพิ่มพลังฝัง Hyperthreading มาให้แบบนี้ก็วางใจได้ระดับหนึ่ง (แต่ก็มีแอบหน่วงบ้างนะ ไม่แรงเหมือนรุ่นแพง ๆ ในตลาดทั้งหลาย)
App ที่ใช้ไม่ได้แน่ ๆ เลยก็คือ Firefox และเกมสามมิติอย่าง ShadowGun (ตัวอื่นส่วนใหญ่ได้) ซึ่งผมเข้าใจว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ Native ของ ARM จะใช้ไม่ได้ทั้งหมด ส่วนเกม Asphalt 7: Heat ยืนยันว่าเล่นได้ไม่มีปัญหาครับ
อ้อ … ลืมบอกไป App เล่นหนังขวัญใจชาว Android อย่าง MX Player เวอร์ชั่นทั่วไปนี่จะใช้ไม่ได้นะครับ ต้องโหลดเวอร์ชั่นที่นักพัฒนาทำมาพิเศษอย่าง MX Player Codec (x86) เล่นได้เนียน ๆ ไม่มีสะดุดครับ รีดพลัง x86 ออกมาได้เต็ม ๆ ดูหนัง 1080p ไม่กระตุกครับ
วัสดุด้านหลังทำมาจากอลูมิเนียม ค่อนข้างดูดีมากเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับราคาเครื่อง และยิ่งดูดีกว่าเมื่อเทียบกับ Acer B1, Memo Pad ที่เป็นพลาสติก
สำหรับสีมีให้เลือกสองสี (ถ้าจำไม่ผิด) ได้แก่ เงิน, ทอง และสีที่ผมรีวิวไปตัวนี้ก็คือสีทองครับ ต่อไปเรามาดูวิธีแกะใส่ SIM, micro-SD กันครับ เท่ห์สุด ๆ ผมชอบมากมันดูล้ำและซ่อนรายละเอียดได้ดี
ทดสอบการใช้งานจริง
“ไม่ลื่น … แต่ก็ยังดีกว่าที่คิด” นี่คือความรู้สึกของผมหลังจากที่ใช้งาน คือมันหน่วง ๆ เล็กน้อยคือไม่ได้อืดเหมือนกระตุกนะ ออกแนวหน่วงเบา ๆ เหมือนรถที่เคลื่อนตัวไปช้า ๆ แบบความเร็วคงที่มากกว่า ซึ่งเดิมทีด้วยหน่วยประมวลผล (CPU) ผมก็ไม่ได้หวังอะไรจากมันมากเกินไปกว่าคำว่า Single-Core อยู่แล้ว แต่หากวัดกันจริง ๆ แล้วก็ยังถือว่าเร็วกว่า Single-Core ของ ARM อยู่หลายขุมนัก
สรุปสั้น ๆ สำหรับคนที่ลังเลว่ามันหน่วงนิด ๆ ครับ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้งานได้จริง ไม่ใช่หน่วงปัญญาอ่อนแบบใช้ทำอะไรไม่ได้เลย
ขนาดหน้าจออยู่กำลังพอดีมือ สามารถใส่กระเป๋าหลังกางเกงยีนส์ได้พอดีเด๊ะสำหรับคนเอว 33″ ก็ถ้าเป็นผู้ชายคงไม่มีปัญหา ส่วนผู้หญิงคิดว่าคงไม่ซื้อมาอยู่แล้วหากไม่ใช่ Geek จริง ๆ ส่วน App ที่ให้มาก็ใช้ง่ายพอสมควรถึงแม้ว่าจะไม่ดีเลิศก็ตาม ส่วนแบตเตอรี่ก็ใช้งานได้เกินวันแบบสบาย ๆ
ปุ่มปรับเสียงและปุ่มล็อคเครื่องกดได้สะดวกดีครับ แบรนด์ด้านหลังเครื่องที่แสดงความเป็น ASUS และ Intel มันช่างเหมาะกับ Geek อย่างผมเสียจริง ถือแล้วไม่อายใครเลยถึงแม้เวลาโทรต้องเอาจอ 7″ มานาบหน้ามันอาจจะดูไม่คุ้นหูคุ้นตาคนทั่วไปก็ตาม (ยี้ … ตัวประหลาด !!!)
ASUS FonePad Benchmark
ทดสอบด้วย App คุณภาพอย่าง AnTuTu Benchmark ได้ไป 6,146 คะแนน (ช้ากว่า Galaxy S2 ประมาณครึ่งนึง) แต่อย่าตกใจไปครับ เพราะ App อาจจะไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับวัดพลังของ x86
หนึ่งใน App ที่แถมมากับเครื่อง ก็ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ แต่ก็พอเล่นแก้เบื่อได้ครับ
ที่เปิดมาด้านบนนี่เป็น App ที่แถมมาหมดเลย ทั้งอ่านหนังสือ ตัดต่อวีดีโอ หรือแม้กระทั้งจดบันทึก
Floating Apps ภูมิใจนำเสนอ
สำหรับ ASUS FonePad สามารถเปิด App ซ้อน ๆ กันได้หลายตัวครับ (เหมือนในโฆษณา SAMSUNG Galaxy, LG บางรุ่น) แต่ App ที่เปิดมาจะต้องเป็น App ในเครื่องที่แถมมากับเครื่องเท่านั้น เปิดได้สูงสุดถึง 8 ตัว ก็นับว่าสะดวกดีครับ เพียงแต่อืดไปหน่อยไม่น่าเรียกใช้เลย
Instant Dictionary (เสียดายไม่ได้ถ่ายมา) ก็เป็นอีก App ติดเครื่องที่น่าสนใจและดูเหมือนจะดูดีที่สุด เอาไว้สำหรับเราอ่านเว็บหรืออ่านหนังสือทั่ว ๆ ไป แล้วอยากจะแปลภาษาเพียงแค่เราลากนิ้วป้าย ๆ มันก็จะแปลให้ ซึ่งมันจะเป็น Pop-Up อยู่มุม ๆ เครื่องเหมือนกับฟีเจอร์จำลองปุ่มโฮมของ iPhone นั่นแหล่ะ สามารถลากไปมาได้
ภาพจากกล้อง ASUS FonePad
กล้องไม่ค่อยดีเท่าไหร่แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ครับ แต่สิ่งที่ผมต้องตกใจคือ “มันถ่ายมาโครได้ดีมากกกกกก”
ข้อดี
- งานประกอบดี วัสดุไม่ขี้เหร่
- ราคาประหยัด
- แบตเตอรี่อึด
- กล้องถ่ายมาโครชัด
ข้อเสีย
- หน้าจอสีจืด ไม่ค่อยสู้แสง
- ยังมีหน่วงบ้างนิด ๆ
- มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับการอัพเดทในอนาคต
สรุป
เป็น Phalet ที่ราคาถูกแล้วน่าใช้มาก ๆ ตัวหนึ่งในตลาด สำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มค่าเพราะ ASUS ใส่มาให้เท่าที่จำเป็นจริง ๆ ครับ ไม่มี NFC, HDMI, Stylus หรืออื่น ๆ ให้ต้องเปลืองต้นทุนเลย ใช้แค่เท่าที่จำเป็นเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป ที่เน้นจอใหญ่และอยากได้ Smart Phone และ Tablet ในตัวเดียวกัน
[message_box title=”ขอขอบคุณ” color=”red”]บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ส่งสินค้าคุณภาพมาให้ทีมงานได้ทดสอบ[/message_box]