จะว่าไปแล้วช่วงนี้ไม่ค่อยได้รีวิว Lifestyle เอาเสียเลย (หนักไปที่รีวิว Gadget มากกว่า) อากาศช่วงนี้ร้อน ๆ หนาว ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพายุเข้ามานั่นเอง ยอมรับครับว่าที่บ้านตั้งแต่เกิดมาตอนนี้ก็ 23 ปีแล้วที่บ้านไม่เคยติดเครื่องทำน้ำอุ่นเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณแม่ค่อนข้างจะหัวโบราณ (อาบน้ำเย็นมาก่อน) และมีความเชื่ออย่างฝังลึกว่าไฟฟ้ากับน้ำนั้นไม่ถูกกัน แต่วันนี้ก็ถึงเวลาที่จะ ซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น สักเครื่อง
ซื้อเครื่องทำน้ำอุ่น ?
วันนี้ฤกษ์งามยามดีจึงได้แวะมา HomePro เพื่อหาลอง ๆ มองดูเครื่องทำน้ำอุ่นซักเครื่อง (ก่อนหน้านี้ก็พอที่จะหาข้อมูลใน Google, Bing มาบ้างแล้ว) ตอนนี้ก็พอมีข้อมูลในใจอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่เป็นคนไทยจึงขอมาจับของจริงเป็น ๆ ดูดีกว่า เครื่องทำน้ำอุ่น หรือ เครื่องทำน้ำร้อน ต่างกันอย่างไร ซื้ออะไรดี
เลือกรุ่นไหนอะไรดี ?
แต่ก่อนเนี่ยผมเคยเข้าใจว่าเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นอุปกรณ์ราคาแพง (คิดเอาเองว่าคงถูกกว่าแอร์ครึ่งนึง) แต่พอมาดูแล้วก็ไม่ใช่อุปกรณ์สิ้นเปลืองอะไรอย่างที่คิดครับ ราคามีตั้งแต่ 3-4 พัน หรือแม้กระทั่งพันกว่าบาทก็มี ห๊ะ … ทำไมมันถูกงี้หว่า O,o!
หลังจากเดิน ๆ จับ ๆ ทำหน้าตาเหมือนมีภูมิ พนักงานคงเห็นเราทำหน้างง ๆ ก็เลยเดินมาให้คำปรึกษา (ขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ) พนักงานก็แนะนำว่ามีหลายแบรนด์ให้เราเลือกตั้งแต่แบรนด์ระดับโลกที่เราคุ้นกันดี จนไปถึงแบรนด์อะไรก็ไม่รู้ที่เราเคยได้ยินครั้งแรกในชีวิต
แน่นอนจากประสบการณ์ทางด้านไอทีหลายปีของผม บอกกับตัวผมเองว่าควรเอาแบรนด์ดัง ๆ ใหญ่ ๆ ที่น่าเชื่อถือไว้ก่อน เพราะบ่อยครั้งที่เราซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นแบรนด์ที่เราไม่รู้จักโดยมากถึงจะราคาถูก แต่มันพังง่าย สเปคไม่ถึง งานประกอบไม่ดีจนไปถึงอย่างเลว ๆ ก็คือ ไม่มีศูนย์บริการ !!!
พนักงานให้คำแนะนำจากนั้นก็ขอลองแกะเครื่องดู (ผมดูไม่เป็นหรอกขอดูไปงั้นแหล่ะ) ก็พบว่าบางเครื่องก็ประกอบได้สวยบ้าง รกบ้าง น่าเชื่อถือบ้าง ฯลฯ สรุปคือดูไม่รู้เรื่องเลยหากคุณไม่มีพื้นฐานด้านนี้จริง ๆ
เลยขอคำแนะนำพนักงานว่าส่วนหลัก ๆ ต้องดูอะไรบ้าง ก็จะมีหม้อต้ม ตัวควบคุมอุณหภูมิ ระบบความปลอดภัย และตัวตัดไฟ (ELCB/ELB) ประมาณนี้ครับ แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ซึ่งแนะนำว่าอย่าเชื่อพนักงานขายมากนักลองทำการบ้านด้วยตัวเองจากทางเน็ตไปก่อน
ตรวจการบ้าน
จากที่ได้ทำการบ้านมาเนี่ย … ในเน็ตส่วนใหญ่จะแนะนำ Panasonic กันเพราะราคาไม่แพงมากแล้วก็ค่อนข้างทำอุณหภูมิได้ดี แถมยังสามารถกันน้ำได้ถึงมาตรฐาน IP25 ที่เป็นเอกลักษณ์ของ Panasonic อีกด้วย แต่สิบปากกว้างก็ไม่เท่าตาเห็นลองมาดู Panasonic E Shower ก็พบรุ่น DH-3JL2TH (จริง ๆ ตอนแรกเล็ง DH-3KD1T เพราะผมชอบหน้าตาและระบบดิจิตอล แต่พนักงานขายบอกของหมด)
พอได้ดูสเปคชัด ๆ นี่มันก็ไม่ค่อยต่างกันเลย แตกต่างกันที่สเปคย่อย ๆ มากกว่า (เช่นหน้าปัดดิจิตอลซึ่งผมชอบมาก) สำหรับราคารุ่น DH-3JL2TH ราคา 2,790.- ส่วนรุ่น DH-3KD1T ราคา 6,xxx.- เรื่องราคาต่างกันเท่าตัวแต่กำลังไฟก็ต่างกันเท่าตัวเช่นกันครับ ระหว่าง 3.5 กิโลวัตค์กับ 6 กินโลวัตต์
เรื่องราคาต่างกันขาดนี้ แล้วคุณภาพชีวิตล่ะจะต่างกันไหม?
จ่ายแพงไม่กลัว กลัวอย่างเดียว “กลัวตาย”
ทีนี้มาดูรุ่นที่อยู่ในซีรี่ย์เดียวกับรุ่น DH-3KD1T ที่ผมอยากได้ (แต่ของหมด) ในตอนแรก และรุ่นที่ดูเหมือนจะสมเหตุสมผลกับราคาก็คือ DH-3KE1 ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันคือ Magic Health
สิ่งที่ผมยิงคำถามไปกับพนักงานคือ “เรื่องความปลอดภัยล่ะ?” เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมค่อนข้างจะซีเรียสมาก และคุณก็คงจะซีเรียสเช่นเดียวกันโดยเฉพาะอุปกรณ์อะไรที่มันเกี่ยวกับชีวิต เพราะถ้าตายแบบเปลือยในห้องน้ำเพราะโดนไฟดูดตายสภาพคงไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่หรอกนะผมว่า = =”
Panasonic ทุกรุ่นมีมาตรฐานความปลอดภัยด้วยการกันน้ำระดับ IP25 เหมือนกันหมด ไม่ว่าคุณจะจ่ายมากจ่ายแพงหรือจ่ายน้อยแค่ไหนก็ได้รับความปลอดภัยบนมาตรฐานเดียวกันครับ และสำหรับมาตรฐาน IP25 อย่าคิดว่าจะมีกับทุกยี่ห้อในท้องตลาดนะครับ เพราะน้อยรุ่นในตลาดมากที่จะสามารถกันน้ำได้ถึงมาตรฐาน IP25 ขนาดนี้
ตัวเลขหลังมาตรฐาน IPxx คืออะไร ?
หลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วนะครับ กับตัวเลขที่อยู่ด้านท้ายของอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่เคยสงสัยกันไหมครับว่า IP ที่ว่า คืออะไร? และมันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน หรือสูงสุดเท่าไหร่กัน?
IP ก็คือ ค่ามาตรฐานการป้องกัน ซึ่งจะเป็นค่าแสดงระดับการป้องกันของอุปกรณ์ไฟฟ้านั่นเองครับ โดยจะมีตัวเลขอยู่ 2 หลัก คือ IPxx โดยที่ตัวเลขหลักแรกจะหมายถึงการป้องกันจากของแข็ง ตั้งแต่ระดับ 0-6 ส่วนตัวเลขหลักถัดมาจะเป็นการป้องกันจากของเหลว ตั้งแต่ระดับ 0-8 ทีนี้เราก็มาดูความหมายของเลขแต่ละตัวกันดีกว่าครับ
เริ่มจากตัวเลขหลักแรกกันก่อนเลย (สูงสุดคือ 6)
- 0 – (บางครั้งใส่ว่า X) ไม่สามารถป้องกันได้เลย
- 1 – สามารถป้องกันของแข็งขนาด 50 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- 2 – สามารถป้องกันของแข็งขนาด 12 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- 3 – สามารถป้องกันของแข็งขนาด 2.5 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- 4 – สามารถป้องกันของแข็งขนาด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร
- 5 – สามารถป้องกันสามารถป้องกันฝุ่นได้ โดยสามารถผ่านได้เล็กน้อย
- 6 – สามารถป้องกันสามารถป้องกันฝุ่นได้ 100%
ทีนี้เรามาดูตัวเลขหลักถัดไปกัน (สูงสุดคือ 8)
- 0 – (บางครั้งใส่ว่า X) ไม่สามารถป้องกันได้เลย
- 1 – สามารถป้องกันหยดน้ำที่ตกใส่ในแนวตั้งได้
- 2 – สามารถป้องกันน้ำที่ฉีดใส่ในระดับเอียง 15 องศาจากแนวตั้งได้
- 3 – สามารถป้องกันน้ำที่ฉีดใส่ในระดับเอียง 60 องศาจากแนวตั้งได้
- 4 – สามารถป้องกันละอองน้ำได้ในทุกด้านของอุปกรณ์ (อนุญาติให้น้ำเข้าได้เล็กน้อย)
- 5 – สามารถป้องกันการฉีดน้ำได้ในทุกด้านของอุปกรณ์ (อนุญาติให้น้ำเข้าได้เล็กน้อย)
- 6 – สามารถป้องกันการฉีดน้ำได้ เช่น บนดาดฟ้าเรือ (อนุญาติให้น้ำเข้าได้เล็กน้อย)
- 7 – สามารถจมน้ำได้ถึง 1 เมตร โดยไม่มีน้ำเข้าเลยเป็นเวลา 30 นาที
- 8 – สามารถใช้ในน้ำได้อย่างถาวร ภายใต้แรงกดดันระดับหนึ่ง
ซึ่งของ Panasonic มีมาตรฐานอยู่ที่ IP25 คือสามารถป้องกันของแข็งขนาด 12 ลูกบาศก์มิลลิเมตร และสามารถป้องกันการฉีดน้ำได้ในทุกด้านของอุปกรณ์ หรือก็คือกันน้ำจากการอาบน้ำทั่ว ๆ ไปนั่นเอง (เพราะยังไงก็คงไม่มีใครเอาเครื่องไปแช่น้ำอยู่แล้ว)
มาตรฐานความปลอดภัยถึง 9 ระบบนิรภัย
อีกสิ่งที่ผมพึ่งทราบจากพนักงานขายก็คือ Panasonic นั้นมีระบบรักษาความปลอดภัยถึง 9 ระบบนิรภัยด้วยกัน คือ
- ลีดเซ็นเซอร์ โดยจะทำการตัดการทำงานของตัวทำความร้อนทันที เมื่อมีแรงดันน้ำต่ำ (ป้องกันอุณหภูมิสูงผิดปกติ)
- ตัวควบคุมอุณหภูมิน้ำอัตโนมัติบริเวณท่อน้ำออก โดยจะตัดกระแสไฟทันทีที่อุณหภูมิน้ำสูงผิดปกติ (ยกเว้นรุ่น DH-6GM2W-T)
- ตัวควบคุมอุณหภูมิน้ำ (อีกแล้ว) ซึ่งจะตัดกระแสไฟทันทีที่อุณหภูมิน้ำสูงผิดปกติ
- หม้อต้มแบบ Reinforced Polymide Heater และแบบทองแดงที่ทนทานเป็นพิเศษซึ่งให้ความร้อนคงที่ (ยกเว้นรุ่น DH-6KD1T, DH-4KD1T, DH-6HS1T, DH-4HS1T หม้อต้มจะเป็นทองแดง) แต่ถามความเห็นผมคิดว่าแบบทองแดงน่าจะทนกว่าครับ แต่บางท่านก็ว่าไม่ค่อยต่างกัน
- ไมโครสวิตซ์คุณภาพสูง (ใหญ่มาก) ช่วยในการเปิดและปิดวาล์วน้ำโดยเครื่องจะหยุดทันทีที่ปิด ออกแนวใช้งานง่ายดี (ยกเว้นรุ่นส่งน้ำหลายจุด)
- ระบบ ELB จะตัดกระแสไฟด้วยความเร็ว 0.05 วินาที หากมีกระแสไฟฟ้ารั่วเพียง 15 มิลลิแอมป์ (แต่ถึงกระนั้นก็ควรติดสายดินด้วย) แต่บางคนไม่ค่อยมั่นใจระบบนี้ แต่เชื่อมั่นแบบคันโยก ELCB มากกว่า ซึ่งผมแนะนำว่าไม่ต้องกังวลครับ ELB จริง ๆ นั้นปลอดภัยมาก
- มาตรฐาน IP25 ป้องกันน้ำเข้าเครื่องอันเป็นเหตุให้เกิดไฟลัดวงจร
- ตัวเครื่องผลิตจากพลาสติกผสม ABS เกรด VO ตามมาตรฐาน UL94 ไม่ติดไฟและป้องกันการลุกลามของไฟที่เป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ (เรื่องไฟไหม้ในห้องน้ำอาจดูตลก แต่มีไว้ก็ไม่เสียหายถือว่าแถม)
- เพิ่มฉนวนป้องกันการรั่วของไฟฟ้าบริเวณจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ให้ปลอดภัยขึ้นอีกเท่า
เท่าที่กล่าวมาหลาย ๆ เรื่องอาจจะดูเกินความจำเป็น แต่เมื่อมองภาพรวมแล้วรู้สึกปลอดภัยมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับคุณแม่ผมที่ค่อนข้างจะหัวโบราณแล้วด้วย เห็นทีคงจะต้องเอาข้อมูลเรื่องนี้ไปเสนอ ไม่งั้นท่านคงไม่กล้าเปิดใจใช้เป็นแน่แท้
สรุป
ในที่สุดผมก็ยังไม่ได้ซื้อมา (แต่ใกล้แล้วล่ะถ้าติดตั้งจริงเมื่อไหร่จะมาอัพเดทกันอีกที) สำหรับข้อความทราบก่อนซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นเบื้องต้นผมก็ได้แจ้งเรื่องสำคัญ ๆ ไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งสำหรับผมเน้นที่ความปลอดภัยเป็นหลักเพราะเนื่องจากเป็นคนขี้กังวล สำหรับราคาก็ไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่นักแนะนำให้เลือกแบรนด์ที่เราคุ้นหูดีกว่า เผื่อจำเป็นต้องใช้ศูนย์บริการหรืออื่น ๆ
ระบบตัดไฟมีแบบ ELCB และ ELB คลาย ๆ กับนาฬิกาเข็มและแบบดิจิตอล ทำหน้าที่เหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน หลายคนชอบ ELCB มากกว่าเพราะคุ้นกับระบบตัดไฟแบบนี้มากกว่า แต่สำหรับผม ELB ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเพราะมันตัดไฟเร็วกว่ามากและน่าไว้ใจพอกัน นอกนั้นส่วนที่จะช่วยเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจ ก็จะเป็นเรื่องระบบความปลอดภัยอื่นอย่างมาตรฐานกันน้ำ IP25, พลาสติกผสม ABS เกรด VO, ตัวควบคุมอุณหภูมิน้ำอัตโนมัติ, ฯลฯ
หม้อต้มเป็นทองแดง (ดูเหมือน) จะทนกว่า แต่ส่วนตัวไม่ค่อยซีเรียสเพราะมันประกัน 5 ปี และอีกอย่างก็ไม่คิดจะใช้ยาวไปถึง 20-30 ปีอยู่แล้ว ถ้าเสียหรือหม้อต้มอุดตันก็คงทิ้งไม่แกะซ่อม เหตุผลเรื่องเดิมเพราะไม่มีความรู้จึงกลัวและไม่อยากเสี่ยง
สำหรับการติดตั้งแนะนำว่าหาช่างที่ชำนาญ คิดราคาให้พร้อม (อย่าให้เขามาชาร์จค่าอะไหล่สิ้นเปลืองทีหลัง) เรื่องสายดินสำคัญพอ ๆ กับชีวิต “อันตรายถึงตายหากไม่ติดตั้งสายดิน” ตอนแรกผมเข้าใจว่าทุกแบรนด์จะมีบริการติดตั้งฟรี แต่พอถามพนักงาน HomePro บอกว่าถ้าจะติดตั้งต้องเสียอีกพันกว่าบาท เป็นช่างของ HomPro เอง (แต่ก่อนก็เคยมีช่างแต่ละแบรนด์ติดตั้งฟรี) แต่ภายหลัง HomePro เห็นว่าคงจะเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง อ้อ … อย่าลืมเช็คแรงดันน้ำด้วยเพราะถ้าติดเครื่องทำน้ำอุ่นแรงดันน้ำจะตกลงไปอีก บางทีต้องซื้อปั๊มน้ำด้วยทำให้งบบานปลายอีก
สุดท้ายที่ผมไม่เคยทราบเลยว่า “ซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นทุกรุ่นมันแถมฝักบัวสายอ่อนด้วยนะ” อันนี้ก็ลองดูเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจก็ได้ครับ ว่าแบรนด์ไหนวัสดุดีหรือห่วยแตกต่างกันอย่างไร เพราะถ้าซื้อแยกราคาก็หลายร้อยอยู่