สำหรับท่านที่ใช้ SSD ของ Samsung ล่าสุดทาง Samsung ได้ปล่อย Feature ที่เรียกว่า RAPID Mode ออกมาสำหรับ ท่านที่ใช้ SSD ของ Samsung ในรุ่น 840 Evo, 840 Pro และ 840 Evo msata ให้ได้ใช้กันครับ ซึ่งวันนี้ผมจะมีรีวิวถึงประสิทธิภาพ ความเป็นมา และหลักการทำงานคร่าวๆ ให้ท่านผู้อ่านของไอรีวิวได้ชมกันครับ เริ่มกันเลยแล้วกันครับ

samsung-ssd-840-evo

RAPID mode คืออะไร?

Samsung RAPID mode นั้นนอกจากจะเป็นการเล่นคำ จากคำว่า Rapid ที่แปลว่า รวดเร็วทันใจแล้ว

อันที่จริงเป็นคำย่อมาจาก Real-time Accelerated Processing of I/O Data ครับ แปลกันคร่าวๆ ก็คือ ระบบเร่งความเร็วการประมวลผล (ทำงาน) ของการส่งรับส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ นั่นเองครับ

ซึ่ง RAPID mode ของ Samsung นั้น ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา โดยการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานโปรแกรมต่างๆ และการใช้ไฟล์ต่างๆ ของเรา รวมทั้งตระเตรียมความเรียบร้อยของระบบที่เกี่ยวระบบการรับส่งข้อมูลของ SSD จากนั้นจึงจัดการกำจัดคอขวดต่างๆ ที่ทำให้กระบวนการเหล่านี้ช้าลงครับ

ซึ่งในการที่จะทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การใช้งานที่เร็วขึ้นและเสถียรขึ้นทาง Samsung เลือกที่จะพุ่งเป้าไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของการเข้าถึงข้อมูลแบบสุ่ม สำหรับไฟล์ยิบย่อย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ SSD ปกติเร็วกว่า HDD มากอยู่แล้ว เร็วขึ้นไปอีกครับ ยิ่งเราใช้งานไปเรื่อยๆ และตัวมันทราบว่าตรงไหนที่เป็นปัญหาเราก็จะยิ่งได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นอีกครับ

ข้อเสียในการใช้งานมีไหม?

แล้วหลายท่านอาจจะมีคำถามว่าการใช้งาน RAPID Mode นั้นมีข้อเสียไหม หรือผลลบจากการใช้ RAPID Mode คืออะไร ตรงนี้ทาง Samsung ยืนยันว่าไม่กระทบทั้งประสิทธิภาพด้านอื่นๆ และเสถียรภาพด้านอื่นๆ เนื่องจาก data ที่ RAPID mode cache นั้นจะถูกจัดเป็นประเภทเดียวกับ Disk cache ของ Windows อยู่แล้วครับ ตรงนี้ทางผู้ออกแบบการันตีว่าต่อให้ไฟดับข้อมูลก็ปกติไม่เสียหายครับ

และจากที่ผู้ใช้ทดลองใช้ยืนยันว่าจริงตามนั้นครับ เร็วขึ้นแต่ไม่มีผลเสียตามมาครับ

ใครสามารถใช้ RAPID Mode ได้?

ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น RAPID Mode ออกแบบมาใช้กับ SSD รุ่น 840 Evo ซึ่งเป็นรุ่นกึ่งกลางระหว่าง 840 และ 840 Pro ครับ และล่าสุดนี้มันรองรับ SSD รุ่นท็อปของ Samsung อย่าง 840 Pro แล้วด้วยครับ

ดังนั้น ณ วันนี้ SSD ที่ใช้ RAPID Mode ได้ก็จะมี Samsung รุ่น 840 Pro และ 840 Evo ทั้งใน Interface SATA3 และ msata ครับ

ประสิทธิภาพที่ได้ดีขึ้นมากแค่ไหน?

Samsung เครมไว้ว่า สามารถทะลุขีดจำกัดของ Sata 3 ณ ปัจจุบัน ที่ 550 MB/s ได้ โดยถ้าใช้ RAPID mode จะทำความเร็วได้สูงสุด 1,200 MB/s

และบางท่านอาจจะมีคำถามว่า แล้วมันจะได้ดีเหรอถ้าข้อมูลมากๆ อันนี้ต้องเข้าใจก่อนครับว่ามัน Focus ไปที่ Data ยิบย่อย(ซึ่งเป็นการใช้งานที่เยอะที่สุด มีผลที่สุดในการใช้งานปกติ) ไม่ใช่การโอนไฟล์(ที่ใช้ไม่บ่อยเท่าการเข้าถึงไฟล์ยิบย่อย)ดังนั้น RAM ที่ Cache ไว้เหลือเฟือครับ เน้นจำนวนงานต่อวินาทีครับ ซึ่งเหมาะกับการใช้งานทั่วไปของเราๆ ท่านๆ อย่างที่สุดครับ

การลองใช้งานจริงต้องบอกว่าประทับใจขึ้นมาก เพราะแค่ Enable และ Restart เครื่อง ก็สัมผัสได้ถึงความเร็วที่เพิ่มขึ้นจริงๆ ครับ และลองวัดด้วยตัวเลขดู ด้วยหนึ่งในโปรแกรมทดสอบ SSD ที่น่าเชื่อถือที่สุดอย่าง AS SSD แล้ว ผลคือ

ก่อนการเปิดใช้งาน RAPID Mode

Rapid Mode Disable MBs Rapid Mode Disable MBs 2

หลังเปิดใช้งาน RAPID Mode

rapid1 rapid2

ผลก็ตามภาพครับ เร็วขึ้นกว่าเดิมมากมายครับ จากคะแนน 1,116 เป็น 3,444 คะแนนเลยทีเดียวครับ ขนาด SSD ของผมมีการใช้งานพื้นที่ไปเยอะพอสมควรแล้วนะครับ

ประทับใจจริงๆ สำหรับ Samsung RAPID Mode for Samsung’s SSD ครับ

อยากลองใช้งานแล้ว จะเปิดใช้งานได้อย่างไร?

สำหรับท่านที่มี Samsung SSD รุ่นใหม่ๆ ในระดับกลางขึ้นไป คือ 840 Evo และ 840 Pro สามารถโหลด Samsung Magicain software ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับจัดการ SSD ของ Samsung ทั้งตรวจเช็คสุขภาพ จัดการระบบต่างๆ ของ SSD มาลงได้ครับ โดยตั้งแต่ Version 4.3 ขึ้นไป สามารถใช้ RAPID Mode ได้ครบทั้ง Pro และ Evo ครับ

โดยเมื่อติดตั้งแล้วให้เข้าไปตั้งค่าตามภาพครับ

1

โดยเมื่อกด Enable แล้ว Sumsang Magician จะขอให้ท่าน Restart เครื่อง 1 ครั้ง เป็นอันว่าสามารถใช้งานได้โดยสมบูรณ์ครับ

ขอจบการรีวิวในส่วนของประสิทธิภาพและการใช้งานไว้เพียงเท่านี้ครับ ส่วนตัวแล้วผมให้คะแนน Samsung RAPID Mode ที่ 5 คะแนนเต็มเลยครับ

ด้านล่างต่อจากนี้จะเป็นภาคผนวก เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้อื่นๆ ของ RAPID Mode และการตอบคำถามที่หลายท่านอาจจะสงสัยครับ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ RAPID Mode

RAPID Mode นี้ Samsung ลงทุนเข้าซื้อบริษัท Nvelo ที่ตั้งอยู่ใน California ในราคาที่ว่ากันว่าหลายร้อยล้านเหรียญเลยทีเดียวครับ
สำหรับบริษัทนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Software Caching ครับ และเคยเป็น OEM ให้กับหลายบริษัท

ทั้งนี้การเข้าซื้อของทาง Samsung เป็นการเข้าซื้อทั้งตัวบริษัท เทคโนโลยี และเหล่าพนักงาน (วิศวะกรซอฟแวร์) ทั้งหลาย ด้วยครับ

โดยให้ทางคนเดิมๆ ของ Nvelo นั้นเข้าไปทำงานกับทาง Samsung คงเพื่อเป็นการออกแบบ Software และ Hardware ให้เข้ากัน เช่นตัว SSD และ Controller ของ SSD ทำให้ผลที่ได้รวมกันนั้นน่าประใจกว่าการออกแบบอย่างใด อย่างนึงเยอะเลยครับ

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าในเมื่อสุดท้ายก็ต้องเขียนลง NAND ทำไมจึงเร็วขึ้น?

ปกติเวลาเราเขียนลง SSD ไฟล์มันจะไปพักอยู่ที่ RAM บน SSD ก่อนลง NAND ใน SSD ครับ (ต้องเข้าใจก่อนว่า SSD ไม่ใช่จะวางข้อมูลลงตรงไหนของ NAND (ชิปเก็บข้อมูล) ก็ได้ แต่จะมีการเลือกกระจายลงไปเพื่ออายุการใช้งาน และประสิทธิภาพอื่นๆ ครับ (และบางครั้งเขียนไปแล้วไม่ใช่จบเลยด้วยครับ จะมี GC (อัลกอลิธึมจัดการของ SSD คอยเข้าไปแก้ไขการวางว่าจะวางตรงไหนถึงจะเหมาะครับ)

ในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของ SSD Controller (เหมือน CPU ในคอม) ว่าจะให้ข้อมูลที่รับมาไปลงใน block ไหนใน NAND ครับ  ดังนั้น SSD 1 ตัวเหมือนคอมจิ๋วๆ 1 เครื่องที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลลง NAND เลยครับ

แต่ DRAM ใน SSD มีจำกัด ไม่พอครับ Controller ก็ช้ากว่าคอมปกติมาก เป็น ARM based processor เหมือนของมือถือ ปัจจุบัน Samsung พัฒนาเป็น 3 cores ครับ สำหรับ Controller ของ SSD Samsung ยี่ห้ออื่นก็ลดหลั่นกันไปตามการออกแบบครับ ดังนั้นงานที่มีคิวเยอะ มีความซับซ้อนเยอะๆ เช่นไฟล์เล็กยิบย่อยจำนวนมาก ก็ยังเป็นเหตุให้ความเร็วตกลง

ดังนั้น RAPID มันออกมาแก้จุดนี้ครับ ด้วยความที่มันออกแบบมาโดยผู้ผลิตเอง มันจะทราบบุคลิคลักษณะการทำงานของ Controller ใน SSD ที่มันทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างดี งานไฟล์ยิบย่อยส่วนมาก มีขนาดไม่ใหญ่ แต่ไฟล์มันเยอะตัว RAPID เองก็จะใช้ทรัพยากรของ PC บางส่วนซึ่งน้อยนิดมาก (แต่ก็พลังมหาศาลหากเทียบกับทรัพยากร onboard ของ SSD) ในการทำตัวคล้าย Controller อีกชุด ในการรองรับไฟล์และจัดการเบื้องต้นไปก่อน ส่งไปเป็นชุด เป็นระบบ Controller ใน SSD ก็ทำงานได้ง่ายขึ้น จัดวางลง Block ใน NAND ง่ายขึ้นได้ผลดีอย่างที่เห็นกันครับ

อีกจุดคือ คอขวด SATA3 ที่ติดที่ 500 กว่าๆ MB/s แต่ตรงส่วนนี้ด้วยความที่ RAPID มันออกแบบมาโฟกัสที่ไฟล์ยิบย่อย ซึ่งเยอะ แต่ไม่ใหญ่ ขนาดแรมที่เหลือนั้นเหลือเฟือในการรับข้อมูลตรงนั้น โดยไม่กระทบประสิทธิภาพระบบ ก็จะ Cache ไว้ตรงนั้นก่อนส่งลงให้ SSD ลดอาการ Disk 100% Usage และลด response time ของตัว Disk ลงด้วยครับ

และสุดท้ายหลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมยี่ห้ออื่นไม่ทำบ้าง?

ตรงจุดนี้คงเป็นเพราะต้นทุนครับ การพัฒนานั้นต้องใช้ต้นทุน ซึ่งเผอิญ Samsung นั้นมีกำลังเงิน และกล้าที่จะจ่ายครับ

อีกทั้ง Samsung อาจจะมองว่าธุรกิจส่วนนี้น่าจะสร้างกำไรให้ Samsung ได้มาก (Samsung ใช้ชิ้นส่วนของตัวเองทั้งหมดใน SSD ทั้ง RAM, NAND และ Controller ครับ เนื่องจาก Samsung เป็นผู้ผลิตทั้ง chip ram และ SoC (Processor) ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ยกตัวอย่างก็ Chip ของ Apple ใน iPad, iPhone ที่ได้ว่าจ้างทาง Samsung ผลิตครับ) เลยพยายามสร้างความแตกต่างเพื่อดึงลูกค้าไปเป็นของตัวเองให้มากขึ้น เลยยอมลงทุน ก็เป็นได้ครับ

เพราะอย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่า Samsung ทุ่มซื้อบริษัทและทรัพยากรบุคคล รวมถึงเทคโนโลยี เทคนิคโนวฮาว ของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้มาเพื่อการทำ RAPID โดยเฉพาะในราคาที่ว่ากันว่าหลายร้อยล้านเหรียญทีเดียวครับ