ในยุคที่แทบทุกบ้านมีคอมพิวเตอร์ใช้และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคชาวไทยกำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่มาในรูปแบบของไวรัสคอมพิวเตอร์และมัลแวร์ซึ่งสามารถขโมยอัตลัษณ์บุคคลออนไลน์ ทำให้ข้อมูลสูญหายหรืออาจทำให้ระบบล่มได้ ในขณะเดียวกันกลับมีคนบางกลุ่มพยายามที่จะหาเงินจากการขายและติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยมองข้ามภัยอันตรายดังกล่าว ข้อมูลต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้คุณรู้เท่าทันอันตรายของการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และวิธีเลี่ยงจากอันตรายเหล่านั้น

Microsoft1

ปัญหาเรื่องซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า ซอฟต์แวร์ที่จำหน่ายในประเทศไทยนั้น เป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ถึงร้อยละ 70 และสหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับให้ไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตา (Priority Watch List) ในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากนี้หอการค้าสหรัฐอเมริกายังได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับรองสุดท้ายในเรื่องของการเคารพลิขสิทธิ์ โดยมีอินเดียเพียงประเทศเดียวที่อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า แม้จะมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่การละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศเราอย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลโดยตรงต่อผู้ใช้งานด้วย ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นทำให้ประสบการณ์การใช้งานคอมพิวเตอร์ได้รับผลกระทบ มีการเปิดเผยรายงานการสำรวจด้านความปลอดภัยจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ร้อยละ 63 ของดีวีดี ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์และคอมพิวเตอร์ที่มีการลงโปรแกรมวินโดวส์แบบผิดกฎหมายนั้นมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดมัลแวร์และไวรัส ดังนั้นผู้ใช้งานที่หวังจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่สมบูรณ์แบบอาจจะต้องผิดหวัง และยังอาจเจอภัยร้ายโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

เอาอนาคตมาเสี่ยงโดยแลกกับเงินที่ได้รับเพียงเล็กน้อย
แม้ว่าการจำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยส่วนใหญ่จะกระทำโดยขบวนการขนาดใหญ่ แต่ยังมีคนบางคนยอมเสี่ยง โดยหวังว่า การขายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์จะช่วยสร้างรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ
ก่อนหน้านี้ เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นโดยกรณีนี้เป็นพนักงานสองคนซึ่งทำงานในร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริมรายใหญ่ของไทย คิดหารายได้พิเศษโดยการเสนอขายและติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้า ทั้งๆ ที่เป็นการทำที่ผิดกฎของบริษัท พนักงานทั้งสองคนรู้ดีว่าการกระทำดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง แต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร จนกระทั่งเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าตรวจสถานประกอบการที่พนักงานคนนั้นทำงานอยู่ เนื่องจากทราบมาว่ามีการติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับลูกค้า ในที่สุดทั้งคู่ถูกจับในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ในวันนั้นเอง ทั้งคู่จึงได้รู้ว่าข้อหานี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 8 ปี และปรับไม่เกิน 800,000 บาท

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พนักงานทั้งสองได้ทำหนังสือขอโทษเจ้าของลิขสิทธิ์และแจ้งลงในหนังสือพิมพ์ และหันมาร่วมรณรงค์ให้คนทั่วไปได้ทราบถึงผลกระทบและโทษจากการละเมิดละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อไม่ให้หลงผิดเช่นเดียวกับที่ตนเคยทำ นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังได้เรียนรู้จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่าเกือบทำให้ตนสูญเสียทุกอย่าง ทั้งอาชีพ ชื่อเสียง และที่สำคัญคืออนาคต สุดท้ายจึงตระหนักได้ว่า ไม่คุ้มเลยกับการเสี่ยงติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้ลูกค้าเพื่อหวังเพียงรายได้ที่เพิ่มมาเล็กๆ น้อยๆ

Microsoft2

ของแท้หรือของปลอม ดูอย่างไร?
มีผู้บริโภคกว่า 400,000 คนทั่วโลก ติดต่อไมโครซอฟท์ผ่านเว็บไซต์ How to Tell ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เพื่อแจ้งว่าซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทำให้เครื่องของพวกเขาติดไวรัสและมัลแวร์นั้นมีลักษณะอย่างไร นอกจากนั้นสินค้าเหล่านี้ยังทำให้เครื่องทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเหมือนกับที่โฆษณาไว้ด้วย โดยไมโครซอฟท์ได้รับรายงานเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์จากลูกค้าในราว 4,500 เรื่องต่อเดือน

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วที่เหล่าอาชญากรนำมาใช้ในการผลิตซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคที่จะรู้เท่าทันว่าซอฟต์แวร์ที่ซื้อมานั้นถูกลิขสิทธิ์หรือไม่ ข้อสังเกตง่ายๆ 4 ข้อต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณตรวจสอบซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาได้ด้วยตัวเองและมั่นใจได้ว่าคุณจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด

  • ซื้อจากร้านที่เชื่อถือได้หรือไม่
    เลือกซื้อสินค้าจากร้านที่มีชื่อเสียง ลองถามจากเพื่อนหรืออ่านจากอินเทอร์เน็ตดูว่าคนอื่นพูดถึงร้านนั้นๆ ไว้ว่าอย่างไร และให้สงสัยไว้ก่อนเสมอว่าสินค้าที่มีราคาถูกกว่าปกติมากๆ อาจไม่ใช่สินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์
  • มีฉลากลิขสิทธิ์แท้จากไมโครซอฟท์หรือฉลากรับรองความถูกต้อง (COA) หรือไม่
    ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ของ Microsoft ทุกชิ้น รวมถึงซอฟต์แวร์ที่มีการติดตั้งลงเครื่องเอาไว้ก่อนแล้ว จะมาพร้อมกับฉลากลิขสิทธิ์แท้จาก Microsoft หรือฉลากรับรองความถูกต้อง (COA) ซึ่งเป็นสติกเกอร์หรือฉลากที่ติดมากับเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับผลิตภัณฑ์ เช่น Windows, Office หรือ Windows Server โดยทั่วไปคุณจะพบสติกเกอร์ COA อยู่บนตัวเครื่องคอมพิวเตอร์หรือภายในช่องใส่แบตเตอรี่สำหรับแล็ปท็อปรุ่นใหม่ๆ
  • มีแผ่นกู้ข้อมูลจัดมาให้พร้อมกับเครื่องที่ซื้อหรือไม่
    แผ่นกู้ข้อมูลมักเป็นสิ่งที่จัดมาให้พร้อมกับเครื่องที่มีการติดตั้งซอฟต์แวร์มาจากผู้ผลิตแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องที่ซื้อใหม่หรือเครื่องที่ผ่านการใช้งานมาแล้วก็ตาม โดยแผ่นกู้ข้อมูลนั้นมีไว้เพื่อให้สามารถติดตั้งใหม่หรือกู้ข้อมูลซอฟต์แวร์กลับคืนมาได้หากเกิดปัญหาขึ้น
  • ดูเหมือนของแท้หรือไม่
    ข้อผิดพลาดง่ายๆ เช่น การสะกดคำผิดบนบรรจุภัณฑ์สามารถช่วยให้คุณระบุได้ว่าซอฟต์แวร์ที่มากับเครื่องที่คุณซื้อเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โลโก้และรูปภาพที่ผิดพลาด หรือไม่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่คุณซื้อก็อาจเป็นตัวบ่งบอกถึงความผิดปกติได้เช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ สามารถดูได้ที่ http://www.microsoft.com/genuine

หากคุณซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่มา แล้วสงสัยว่าเครื่องของคุณอาจจะได้รับการติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ คุณสามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ www.microsoft.com/piracy โดย Microsoft อาจทำการส่งสินค้าทดแทนให้ในกรณีที่ลูกค้าโดนหลอกให้ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์