คู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก แล้วต้องการจะมีบุตร ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความปรารถนานั้น แต่ปัจจุบันมีการรักษาอยู่หลายวิธีด้วยกัน ที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยในการรักษาก็จะแตกต่างกันออกไปในเรื่องของหลักการและขั้นตอนการรักษา ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาที่เข้ากับปัญหาของคู่สมรสของแต่ละคู่ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เห็นผล ขณะที่การรักษาบางวิธีการ อาจต้องลองรักษาด้วยวิธีอื่นก่อน เมื่อพบว่าไม่สำเร็จจริงๆ จึงเปลี่ยนไปใช้อีกวิธีหนึ่งได้ โดยในการรักษาภาวะการมีบุตรยากในปัจจุบัน ก็จะมีวิธีการดังนี้
1. การฉีดน้ำเชื้อ (IUI)
วิธีแรกกับการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากก็คือการฉีดน้ำเชื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีทางเลือกของผู้ที่มีบุตรยาก ที่เรียกว่า IUI – Intra – Uterine Insemination เป็นการฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาการตกไข่ที่ไม่ปกติ เพราะการฉีดน้ำเชื้อจะเลือกช่วงเวลาที่ใกล้กับช่วงที่มีไข่ตก ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้
วิธีการคือคัดสรรเชื้ออสุจิที่แข็งแรง แล้วทำการฉีดเข้าไปโดยใช้ท่อพลาสติกขนาดเล็กสอดผ่านปากมดลูกเพื่อฉีด จากนั้นเชื้ออสุจิจะไปทำการปฏิสนธิกับไข่ที่ท่อนำไข่ เป็นการปฏิสนธิภายในร่างกาย แต่การฉีดน้ำเชื้อเข้าไปในโพรงมดลูก จะช่วยแก้ปัญหาที่ไม่รุนแรงในการตั้งครรภ์ หากบางคนที่มีปัญหารุนแรงกว่านั้น เช่นมีปัญหาเรื่องท่อนำไข่ตีบตัน การฉีดน้ำเชื้อก็ไม่ได้ผล เพราะอสุจิไม่สามารถเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ได้
2. การทำกิฟต์ (GIFT)
อีกหนึ่งเทคโนโลยีรักษาภาวะการมีบุตรยาก ก็คือการทำ GIFT มาจากชื่อเต็มว่า Gamete Intra – Fallopian Transfer หลักการของการทำกิฟต์คือนำเอาไข่ที่สุกเต็มที่ และเชื้ออสุจิที่คัดเลือกแล้ว ฉีด
เข้าในท่อนำไข่ เพื่อเกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์โดยการให้ไข่และอสุจิได้ปฏิสนธิกันในบริเวณและเวลาที่เหมาะสม ยังจำเป็นต้องอาศัยท่อนำไข่ในการปฏิสนธิ ดังนั้นวิธีนี้ใช้ได้กับผู้ที่มีท่อนำไข่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง หากมีปัญหาท่อนำไข่ตีบตันทั้ง 2 ข้าง ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้
3.การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)
ก่อนอื่นไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยี IVF คร่าวๆ กันก่อน โดย IVF ก็คือเทคโนโลยีปฏิสนธิภายนอกคือการให้เชื้ออสุจิและไข่ปฏิสนธิกันภายนอกร่างกาย หรือการปฏิสนธิในห้องทดลองที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นผู้ควบคุมดูแล
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จะเริ่มจากการกระตุ้นไข่ ด้วยการฉีดฮอร์โมนในวันที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน และติดตามผล จากนั้นแพทย์จะทำการเก็บไข่ เมื่อไข่เจริญเติบโตจนได้ขนาดตามต้องการ ขณะเดียวกันฝ่ายชายก็จะต้องเก็บอสุจิใส่ภาชนะที่แพทย์เตรียมให้ และแพทย์จะคัดแยกอสุจิที่สมบูรณ์ เพื่อนำมาผสมกับไข่ในห้องทดลอง แล้วทำการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนต่อไป เมื่อตัวอ่อนเจริญตามที่แพทย์ต้องการ ก็จะต้องทำการย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูก ตามขั้นตอน
4.การทำเด็กหลอดแก้ว (ICSI)
ICSI หรืออิ๊กซี่ คือเทคโนโลยีการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ในลักษณะของเด็กหลอดแก้วเช่นกัน แต่ IVF เป็นการทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีปกติ ส่วน ICSI เป็นเทคนิคพิเศษ ซึ่งควรทำเมื่อใช้วิธี IVF 3 ครั้งแล้วยังไม่ได้ผล โดยในการทำ ICSI แพทย์จะทำการคัดเลือกอสุจิที่แข็งแรงที่สุดด้วยกล้องจุลทรรศน์ จากนั้นจะฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่ แล้วนำไข่ที่ผสมกับอสุจิตัวนั้นแล้วไปไว้ในห้องปฏิบัติการ 3-5 วัน จากนั้นติดตามผลจนเจริญเป็นตัวอ่อน ก็จะถูกนำไปฝังในมดลูก เพื่อเจริญเติบโตในครรภ์ตามลำดับ
5.การทำ PESA-TESA
การทำ PESA-TESA เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ซึ่งมาจากปัญหาของฝ่ายชายที่เป็นหมันจากร่างกายที่มีปัญหาในเรื่องของท่อนำส่งอสุจิอุดตันหรือไม่มีท่อนำส่งอสุจิ รวมถึงผู้ชายที่มีการทำหมันหลังมีลูกแล้วไม่ต้องการมีลูกเพิ่ม แต่ภายหลังเปลี่ยนใจก็สามารถใช้วิธีการนี้ได้ โดยวิธีหลักๆ เลยจะเป็นการใช้เข็มดูดเอาเชื้ออสุจิออกมาจากร่างกายเพื่อนำมาผสมกับเซลล์ไข่ เนื่องจากอสุจิไม่สามารถเดินทางมาผสมกับไข่ได้เอง เพราะมีปัญหาที่ท่อนำส่ง
การทำ PESA คือการใช้เข็มแทงเข้าไปที่ท่อพักน้ำเชื้อแล้วดูดอสุจิออกมา ส่วนการทำ TESA จะใช้เข็มแทงเข้าไปที่ลูกอัณฑะ แล้วดูดอสุจิออกมา วิธีการคล้ายกันแต่จะแตกต่างกันที่ตำแหน่งที่ใช้เข็มแทงเข้าไปเพื่อดูดเชื้ออสุจิออกมา หลังจากนั้นจะนำไปผสมกับไข่ด้วยการทำ ICSI ต่อไป
สรุปวิธีใดเหมาะกับใครบ้าง?
- การฉีดน้ำเชื้อ (IUI) เหมาะกับผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องการตกไข่ที่ไม่ปกติ
- การทำกิฟต์ (GIFT) เหมาะกับผู้หญิงที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ โดยต้องมีท่อรังไข่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง หรือผู้ชายที่มีปัญหาอสุจิไม่แข็งแรง
- การทำเด็กหลอดแก้ว IVF เหมาะกับฝ่ายหญิงที่มีปัญหาในมดลูก หรือฝ่ายชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ
- การทำเด็กหลอดแก้ว ICSI เหมาะกับคนที่ทำ IVF ไม่สำเร็จใน 3 ครั้ง
- การทำ PESA-TESA เหมาะกับผู้ชายที่เป็นหมันจากท่อนำส่งอสุจิที่มีปัญหา
ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ทั้งนั้นในการเลือกวิธีการรักษา จะต้องทำการเลือกให้ตรงกับปัญหาของแต่ละบุคคล เพราะวิธีการเหล่านี้ สามารถแก้ปัญหาได้แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นวิธีทางการแพทย์ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหานั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
หมายเหตุ – บทความนี้เป็น Advertorial