ปัจจุบันกล้องอินสแตนท์ (Instant) ที่หลายคนมักเรียกติดปากว่ากล้องโพลารอยด์ (Polaroid) ซึ่งอันที่จริงมันเป็นเครื่องหมายการค้ามากกว่า มีเจ้าตลาดเพียงเจ้าเดียวที่พอหาซื้อไม่ยากจนเกินไปนักก็คือ Fujifilm แต่การใช้งานก็ตรงตามต้นฉบับของมันเลยคือ ถ่ายเสร็จออกมาเป็นรูปรอสักพักนึงก็จะออกมาเป็นภาพฟิล์ม

Canon iNSPiC
Canon iNSPiC

Canon iNSPiC

สำหรับกล้องในตระกูล iNSPiC ลักษณะการทำงานก็จะคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันสักทีเดียวเพราะทาง Canon เพิ่มคุณสมบัติด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่แตกต่างกันออกไป ผ่านทางเทคโนโลยีกระดาษ ZINK™ โดยไม่ต้องใช้น้ำหมึก และหลายแบรนด์ก็นิยมใช้กันอย่าง Canon, Brother, HP, LG, Polaroid

iNSPiC มีทั้งหมดกี่รุ่น แตกต่างกันอย่างไร
iNSPiC มีทั้งหมดกี่รุ่น แตกต่างกันอย่างไร

iNSPiC มีทั้งหมดกี่รุ่น แตกต่างกันอย่างไร

ในตระกูลของ Canon iNSPiC ในตอนนี้ทำออกมาทั้งหมด 3 รุ่นด้วยกัน ตามความต้องการที่แตกต่างกันออกไป สามารถหาซื้อได้ตามร้านกล้องชั้นน้ำหรือแม้กระทั่ง Canon eStore เองก็มีขาย ส่วนราคาก็แตกต่างกันไปตามแต่ละโปรโมชั่น ซึ่งถ้าหากเทียบกับราคาเครื่องแล้วก็ไม่ได้ถือว่าแพงมากมายอะไรนัก

  1. iNSPiC [S] ราคาพิเศษ 4,990 บาท (ราคาปกติ 5,990 บาท)
  2. iNSPiC [C] ราคาพิเศษ 2,990 บาท (ราคาปกติ 4,250 บาท)
  3. iNSPiC [P] ราคาพิเศษ 2,990 บาท (ราคาปกติ 4,250 บาท)

ความแตกต่างก็คือรุ่น “S” จำแบบง่ายก็คือรุ่นแพงความละเอียดสูงกว่า ต่อแอปพลิเคชันมือถือได้ (S) รุ่นถูกลงมาหน่อยคุณสมบัติลดลงมา เน้นการถ่ายแล้วพิมพ์เลย (C) และสุดท้ายถ่ายรูปไม่ได้เน้นต่อมือถือเพื่อพิมพ์อย่างเดียว (P) เอาเป็นว่าหากใครต้องการแบบไหนก็เลือกเอาตามสะดวก และงบประมาณได้เลยครับ

iNSPiC [S] กับ iNSPiC [C] ต่างกันอย่างไร ?
iNSPiC [S] กับ iNSPiC [C] ต่างกันอย่างไร ?

iNSPiC [S] กับ iNSPiC [C] ต่างกันอย่างไร ?

อย่างที่ได้กล่าวขั้นต้นก็คือสองรุ่นนี้มีจุดต่างกันตรงที่เชื่อมต่อแอปพลิเคชันได้กับไม่ได้ หากคุณต้องการถ่ายสนุกขำ ๆ ก็เลือกรุ่น C ก็เพียงพอ แต่หากคุณอยากดึงรูปที่ถ่ายจากกล้องมือถือด้วยก็ควรเลือก S แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกล้องที่ติดมากับเครื่องก็ยังมีความละเอียดต่างกันด้วย

iNSPiC [S]

  • ความละเอียดกล้อง 8MP
  • ความละเอียดในการพิมพ์ 314*600 dpi
  • ทางยาวโฟกัส 25.4 มม.
  • รูรับแสง f/2.2
  • ระยะโฟกัส 1 ฟุต

iNSPiC [C]

  • ความละเอียดกล้อง 5MP
  • ความละเอียดในการพิมพ์ 314*500 dpi
  • ทางยาวโฟกัส 24 มม.
  • รูรับแสง f/2.4
  • ระยะโฟกัส 50 ซม.

หากไม่ติดเรื่องราคายังไงไปตัว “S” ก็จะได้สเปกที่สุดกว่าทั้งในเรื่องความละเอียดกล้อง และความละเอียดในการพิมพ์ แต่ส่วนตัวผมว่ากล้องทั้งสองใช้งานจริงคุณภาพก็ยังไม่ค่อยต่างกันสักเท่าไหร่ หากใครอยากได้ภาพที่สมบูรณ์แบบ เลือกใช้กล้องสมาร์ตโฟนจะทำได้ดีกว่ามาก ๆ

ในส่วนของด้านหลังเหมือนกันทุกประการ และที่ห้ามลืมก็คือรุ่น “C” ไม่สามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชันกับสมาร์ตโฟนได้ ก็เท่ากับว่าจะมีความแตกต่างกับรุ่น “S” อยู่เยอะเหมือนกัน แต่ส่วนตัวผู้เขียนรีวิวชอบรุ่น “P” มากกว่าเพราะเน้นแค่พิมพ์อย่างเดียว ไม่หวังคุณภาพจากการถ่ายโดยตรง

นอกจากนี้ก็จะมีสเปกกายภาพต่างกันเล็กน้อย เช่น การควบคุมแฟลชได้กับไม่ได้ (ใช้งานจริงไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่) และทั้งสองสามารถใส่ microSD เพื่อบันทึกภาพที่ถ่ายได้ด้วย เอาไว้โอนถ่ายเข้าคอมพิวเตอร์หรือเก็บสำรองเป็นดิจิทัลไฟล์อะไรก็ว่ากันไป แต่เงื่อนไขการใช้งานยุ่งยากมากถึงมากที่สุด

  • หากได้ทำการใส่กระดาษแล้วจะสามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องมีการ์ด microSD
  • หากไม่ได้ทำการใส่กระดาษจะไม่สามารถถ่ายภาพได้แม้ว่าจะใส่การ์ด microSD

เท่ากับว่าการ์ด microSD ไม่ต้องมีก็ได้ หากคุณต้องการถ่ายแล้วพิมพ์แบบไม่เก็บสำเนา และหากคุณคิดว่าถ่ายไปเรื่อย ๆ แล้วค่อยเลือกรูปขอบอกว่า “ทำไม่ได้” เพราะตัวกล้องมันไม่ได้มีระบบปฏิบัติการอะไรเลย การใช้งานเป็นเพียงแค่กดถ่ายแล้วพิมพ์ ณ ตอนนั้น (ดูภาพตัวอย่างไม่ได้) เท่านั้นเอง

ทางออกก็คือต้องซื้อรุ่น “S” ที่สามารถเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน Canon Mini Print เพื่อทำการเลือกรูปได้ แต่เอาเข้าจริงหากเรามีสมาร์ตโฟนอยู่ใกล้ตัวอยู่แล้ว เราก็ถ่ายด้วยสมาร์ตโฟนดีกว่าเพราะกล้องและเลนส์พัฒนาไปไกลกว่ากล้องของ iNSPiC ไปเยอะมากนั่นเอง (เป็นอีกเหตุผลที่ผมชอบรุ่น “P” มากกว่า)

ทดสอบใช้รุ่น iNSPiC [S] ก็ใช้งานไม่ยากมาก การทำงานทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชันสะดวกกว่า สามารถเลือกภาพและตกแต่งได้เล็กน้อย (แนะนำให้แต่งรูปเตรียมไฟล์จากแอปพลิเคชันอื่นมาให้เสร็จ) แต่ถ้าถ่ายจากกล้องโดยตรงแล้วพิมพ์ก็ได้เช่นเดียวกัน แต่คุณภาพของกล้องจะไม่สูงเท่ากับสมาร์ตโฟนนั่นเอง

สำหรับรุ่น iNSPiC [C] ขอข้ามรีวิวไปเลย เพราะการทำงานและหลักการโดยรวมไม่ต่างกัน ความน่าสนใจจึงตกไปที่ iNSPiC [P] ที่เป็นเครื่อง Mini Photo Printer ในขนาดที่เล็กไม่แตกต่างกัน สามารถสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน Canon Mini Print ได้โดยตรง รองรับ Android และ iOS ตามสมัยนิยม

สำหรับการชาร์จไฟก็จะผ่านทาง Micro USB ตามด้วยไฟแสดงสถานะการชาร์จ ช่องสำหรับรีเซ็ต นอกจากนี้ก็จะมีที่ห้อยเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ด้วยครับ แต่เรื่องของแบตเตอรี่อันนี้ต้องเข้าใจนิดนึง ว่าการพิมพ์ใช้พลังงานค่อนข้างสูง และพิมพ์ได้แค่ไม่กี่รูปแบตเตอรี่ก็หมดแล้วครับ ถ้าใช้เยอะควรมีแบตเตอรี่สำรองติดตัวไว้

ใช้งานจริงพิมพ์ง่ายและสะดวกมาก เหมาะกับคนที่ชอบตกแต่งอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังจากพิมพ์รูปเสร็จแล้ว สามารถลอกกระดาษออกมาเป็นสติกเกอร์ได้ด้วย เรื่องความคมชัดอยู่ในระดับที่น่าประทับใจ สามารถเลือกพิมพ์รูปขนาด 2 x 3 นิ้ว หรือใครชอบจตุรัสก็สามารถพิมพ์ 2 x 2 นิ้ว โดยจะทิ้งขอบขาวไว้ให้ตัด

กระดาษแพงไหม ราคาเท่าไหร่ ซื้อที่ไหน

กระดาษ ZINK Zero Ink สำหรับ Mini Photo Printer สามารถหาซื้อได้ทั่วไป หรือหากใครไม่อยากเสียค่าขนส่งก็ลองสั่ง กระดาษภาพถ่าย กับทาง ShopAt24 ส่งฟรีที่ 7-11 ทุกสาขาทั่วประเทศ และขึ้นชื่อว่า Canon ก็มั่นใจได้ว่ายังคงมีกระดาษขายไปอีกนาน ราคาเฉลี่ยตกรูปละประมาณ 15 บาท ถ้ามีเพื่อนจะขอพิมพ์ก็คิดราคา 20 บาทไปเลยจำง่ายดี (ฮา) เทียบกับราคากระดาษ Instax Mini Film ถือว่าพอกัน

นอกจากจะใช้ถ่ายรูปแล้ว Canon iNSPiC ยังใช้เป็นเครื่องประดับบ้าน หรือเอาไว้ถือเก๋ ๆ เวลาถ่ายรูปได้ด้วย เพราะขนาดมันเล็กน่ารักเหมาะกับการพกพามาก และก็มีให้เลือกหลายสีอยู่ใครชอบซื้อไหนก็ลองไปเลือกซื้อกันดูได้ ซึ่งสีที่ทำออกมาจะดูมีความเป็นวัยรุ่นเป็นอย่างสูง ถ้าใครชอบอยู่แล้วก็อย่าได้ลังเล

โทนสีที่ได้จะออกแนวฟิล์มจ๋าเลย เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งหากใครชอบแนวนี้ ภาพมันจะไม่ใส่กิ๊กสมบูรณ์แบบ แต่จะมีความอมเหลืองเล็กน้อย ลูกเล่นหากสั่งพิมพ์ผ่านแอปพลิเคชัน สามารถเลือกพิมพ์แบบต่อกัน 4 หรือ 9 ภาพเพื่อเป็นภาพใหญ่ (Tile Print) หรือจะพิมพ์หลายภาพในรูปใบเดียว (Collage Print) ก็ได้

ข้อดี

  1. พิมพ์รูปง่าย สะดวก ไม่ต้องใช้หมึก
  2. กระดาษเป็นสติกเกอร์ในตัวใช้ตกแต่งได้
  3. ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาสะดวก
  4. ชาร์จไฟสะดวกผ่านทาง Micro USB

ข้อเสีย

  1. แบตเตอรี่หมดเร็วมาก (ควรใช้คู่กับ Power Bank)
  2. ไม่มีหน้าจอหรือโปรแกรมควบคุมอื่นในตัว
  3. เน้นถ่ายแล้วพิมพ์ ลูกเล่นเพิ่มเติมยังมีน้อย

สรุป

กล้องถ่ายรูปสติกเกอร์ Canon iNSPiC เหมาะสำหรับคนที่ชอบถ่ายรูป ให้ความรู้สึกเป็นความทรงจำที่จับต้องได้ สามารถเอารูปไปแปะตกแต่งได้สารพัดอุปกรณ์ที่ต้องการ เช่น สมาร์ตโฟน, โน้ตบุ๊ก, ฯลฯ เพิ่มเติมเป็นความทรงจำที่แสนจะพิเศษ ส่วนกระดาษ ZINK ก็มีราคาไม่แพงมาก อยู่ในระดับที่สามารถจับต้องได้