Philips LED SceneSwitch ในตอนนี้ออกมา 2 รุ่น โดยในรุ่นแรกจะสลับไฟได้สองสี Warm white กับ Cool daylight ส่วนรุ่นใหม่จะปรับความสว่าง Brightness Change ได้สามระดับ นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของหลอดไฟแอลอีดี ที่สามารถติดตั้งได้เลยโดยไม่ต้องดัดแปลงแผงวงจรหรือสวิตซ์ โดยในวันนี้เราจะมารีวิวพร้อมกันทั้ง 2 รุ่นครับ
Philips LED SceneSwitch
หลอดไฟ สำหรับรุ่น Philips LED SceneSwitch มีให้เลือก 2 รุ่น
- Warm white/Cool daylight (ปรับโทนสี 2 แบบ)
- Brightness Change (ปรับความสว่าง 3 ระดับ)
มีวางจำหน่ายแล้วตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายหลอดไฟฟิลิปส์ทั่วประเทศ ราคา 259 บาท ข้อดีก็คือปรับใช้กับหลอดมาตรฐานเดิมได้เลย ไม่ต้องดัดแปลงวงจร ไม่ต้องใช้ช่างไฟ
Warm white หรือ Cool daylight
หลอดไฟแบบไหนดี เป็นคำถามโลกแตกที่หลายคนอาจสงสัย ในเมื่อความขาวมีหน่วยวัดเป็นค่าอุณหภูมิสีของแสง (Color Temperature TK) ซึ่งในตลาดส่วนใหญ่จะแบ่งออกมากมาย แต่ในที่นี้เราจะยกมาเพียงแค่ 2 โทรสีของ Philips ก็พอ
- Warm white : แสงเหลืองนวล (3000K) เป็นโทนร้อนให้ความอบอุ่น ให้อารมณ์ผ่อนคลายเหมาะกับสปา, โรงแรม, ร้านอาหาร, ห้องนั่งเล่น, ห้องนอน, ห้องพักผ่อน (ลองไปดูรูปถ่ายบ้านหรือโรงแรมจะโทนสีแนวนี้แทบทั้งสิ้น) แต่ข้อเสียก็คืออาจทำให้ดูสว่างน้อยลง รวมถึงการรับรู้สีในห้องจะผิดเพี๊ยนไปได้
- Cool daylight : แสงขาว (6500K) เป็นโทนการให้แสงสว่างสูง ทำให้มองเห็นได้ชัดในทุกมิติ เหมาะกับทุกสถานที่ไม่ว่าจะเป็นห้องอ่านหนังสือ, โรงเรียน, สำนักงาน, ร้านค้า ข้อดีก็คืออ่านหนังสือและทำกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาได้ดีกว่า และปรับอารมณ์ให้ความคุ้นชินได้ไม่ยากนัก
การเลือกใช้โทนสีโดยมากจะไม่มีถูกผิด ออกแนวตามใจผู้อยู่เสียมากกว่า แต่ส่วนตัวผู้รีวิวเองจะเลือกใช้ Warm white กับโคมไฟหรือห้องนอนและห้องกินข้าว เนื่องจากรู้สึกว่าทำให้ดูอบอุ่นและหลับง่ายมากกว่า (ส่วนเวลากินข้าวก็ให้อารมณ์แสงเทียนนิดหน่อย)
แต่สำหรับ Cool daylight จะใช้กับตอนอ่านหนังสือ, ทำงาน, ห้องน้ำ, หรือดูภาพยนต์มากกว่า เนื่องจากกิจกรรมพวกนี้จำเป็นต้องใช้สายตาประมาณหนึ่ง … ซึ่งบางบ้านอาจใช้วิธีวางหลอดไฟคู่แล้วสลับสวิตซ์กันเปิด แต่ก็นั่นแหล่ะมันค่อนข้างยุ่งยากในการปรับปรุงบ้านใหม่
Philips LED SceneSwitch – Brightness Change
เริ่มต้นด้วยหลอดไฟ SceneSwitch รุ่นใหม่ มาพร้อมกับขนาด 9w (เทียบวัตต์กับหลอด Fluorescent ประมาณ 19w) รุ่นนี้มีสองโทนสีให้เลือกคือ คูลเดย์ไลท์ (Cool daylight) หรือแสงขาว (6500K) และ วอร์มไวท์ (Warm white) หรือแสงเหลืองนวล (3000K) ไม่ได้มาในหลอดเดียวกัน ต้องซื้อแยกรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่ความพิเศษก็คือปรับระดับไฟได้ 3 ระดับ (100/40/10) โดยสามารถใช้สวิตซ์ไฟตัวเดิมโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเติม
โดยปกติหลอดไฟ LED มันจะไม่สามารถปรับความสว่างได้ ทำให้เราไม่สามารถปรับความสว่างได้ตามต้องการ แต่สำหรับรุ่น Brightness Change สามารถปรับได้ดังนี้
- ระดับความสว่าง 100% : อยู่ที่ระดับ 800Lm ให้ความสว่างเต็มที่ในการทำงาน
- ระดับความสว่าง 40% : อยู่ที่ระดับ 320Lm ให้ความสว่างใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติ
- ระดับความสว่าง 10% : อยู่ที่ระดับ 80Lm ให้ความสว่างน้อยเหมาะกับการชมภาพยนตร์ หรือใกล้เวลานอน
การใช้งานก็เพียงแค่ “ปิด” และ “เปิด” สวิตซ์ไฟใหม่ จะเป็นการหมุนสลับสับเปลี่ยนโหมดไปเรื่อย ๆ แถมยังประหยัดพลังงานได้สูงสุด 87% พร้อมอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 15 ปี
Philips LED SceneSwitch – Cool & Warm
ถัดมาเป็นหลอดไฟ SceneSwith รุ่นแรก (อันที่จริงผมชอบมันมาก) มาพร้อมกับขนาด 9.5w (เทียบวัตต์กับหลอด Fluorescent ประมาณ 19w) รุ่นนี้จะไม่สามารถปรับความสว่างได้ แต่จะสลับโทนสีได้ระหว่าง Warm white และ Cool daylight ในหลอดเดียวโดยไม่ต้องดัดแปลงสวิตซ์หรือแผงวงจรใด ๆ
การใช้งานเหมาะกับคนที่เลือกไม่ได้ว่าจะเอาหลอดโทนอะไรดี จะเอาเหลืองมาก็กลัวจะไม่สบายตาหรือจะเอาขาวมาก็ดูจะน่าเบื่อเกินไป ซึ่งหลอดแบบนี้เหมาะอย่างมากกับห้องนอน หากเราต้องการดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือก็เปิด Cool daylight แต่หากใกล้จะนอนแล้วก็เปิดเป็น Warm white ซึ่งจะช่วยให้เราหลับได้ง่ายกว่า
หลอดไฟทั้งสองรุ่นมาพร้อมกับขั้วมาตรฐาน E27 สามารถหมุนเสียบแทนของเก่าได้เลย ประหยัดไฟได้สูงสุด 87% เปิดแล้วติดทันทีไม่ต้องรอ มีความร้อนต่ำและไม่เป็นอันตรายต่อสายตา
สำหรับหลอดไฟก็มีขนาดพอดีมือ แต่ที่สังเกตได้ก็คือ (ผมไม่เคยใช้ LED มาก่อน) หัวของหลอดเหมือนจะฉายไปตรง ๆ มากกว่าการยิงแสงแบบกระจาย และตรงนี้ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีผลอะไรหรือไม่สำหรับคนใช้งานที่ต้องวัดแสงแบบมืออาชีพ แต่สำหรับผมเป็นผู้ใช้ทั่วไปจึงไม่ค่อยซีเรียสเท่าไหร่นัก
ทดสอบใช้งานกับโคมไฟของ Philips เหมือนกัน (อันที่จริงใช้กับอะไรก็ไม่ต้องซีเรียสขนาดนั้นนนน …) ตรงนี้เป็นโคมไฟหัวเตียงและคอมพิวเตอร์ของผมโดยตรง มีสวิตซ์อยู่ใกล้มือปรับอะไรได้สะดวก โดยปัญหาเดิมก็คือหลอดเก่ามัน “สว่างเกินไป” จนทำให้ใช้บางสถานการณ์ไม่สะดวก และการที่อยู่คอนโดร่วมกับคนในครอบครัว อาจทำให้เกิดการแยงตาของแสงได้ ดังนั้นผมจึงเลือกเปลี่ยนเป็นรุ่น Brightness Change
SceneSwitch – Brightness Change
การใช้งานโดยรวมค่อนข้างพอใจ ถึงแม้ผมจะอยากให้ความสว่างระดับกลางอยู่ที่ 50% : 400Lm มากกว่า เหมาะกับการใช้งานทั้งกลางวันและกลางคืน โดยความสว่างระดับต่ำสุด 10% : Lm เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการนอนดูภาพยนตร์ หรือคนที่ชอบเปิดไฟนอนให้มันสลัวนิด ๆ
ถัดมาจะเป็นการทดสอบไฟหลักของห้องในคอนโดทั้ง 4 ดวง โจทย์หลักของผมคือเน้นความอบอุ่นและให้ความคมชัดเมื่อต้องการใช้งานได้ ดังนั้นผมจึงเลือกเปลี่ยนเป็นรุ่น Cool & Warm ซึ่งใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แถมมีความอเนกประสงค์มากกว่า เวลากินข้าวก็ให้บรรยากาศสบาย ๆ ไม่เป็นไฟขาวแข็งกระด้างจนเกินไป … และภาพด้านบนคือบรรยากาศช่วงใกล้มืดครับ
SceneSwitch – Cool & Warm
การใช้งานตอบโจทย์เป็นอย่างมาก แต่ขัดใจเล็กน้อยตรงที่ Warm white หรือแสงเหลืองนวลมันค่อนข้างที่จะ “อมเหลือง” ไปนิดนึง (ใจจริงอยากให้มันดูขาวกว่านี้หน่อย) แต่ก็เข้าใจว่าการซื้อหลอดแบบนี้มันสะดวกสุดแล้ว ไม่ต้องเดินสายไฟใหม่แยกสวิตซ์อะไรให้วุ่นวาย แบบนี้ก็สะดวกดีอารมณ์เหมือนได้ห้องใหม่เพียงแค่เปลี่ยน “หลอดไฟ”
ข้อดี
- ติดตั้งง่าย แค่เปลี่ยนแทนหลอดเก่า
- รวมคุณสมบัติในหลอดเดียว
- มั่นใจคุณภาพด้วยแบรนด์ “ฟิลิปส์”
ข้อเสีย
- สเปคยังไม่ค่อยหลากหลาย
- ราคาสูงกว่าหลอดไฟทั่วไป (เล็กน้อย)
สรุป
อีกหนึ่งวิธีง่าย ๆ หากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศบ้าน ด้วยราคาที่ไม่แพง แถมไม่ต้องพึ่งช่างมาเปลี่ยนสวิตซ์หรือวางระบบไฟให้วุ่นวาย หลอดมีสองรุ่นคือ “ปรับความสว่าง” หรือ “สลับโทนสี” สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของหลอดไฟที่น่าสนใจจากฟิลิปส์ครับ
ขอขอบคุณ Philips Thailand ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ส่งมาให้รีวิว