เครื่องทำน้ำอุ่น หรือ เครื่องทำน้ำร้อน อย่างแรกเชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่อย่างหลังบางคนอาจพึ่งเคยได้ยินว่าด้วยหรอ ต่างกันอย่างไร ซื้ออะไรดี ซึ่งเดิมทีผมเองก็เคยมีความสับสน ระหว่างเจ้าสองเครื่องนี้อยู่เหมือนกัน วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันว่าสิ่งไหนแน่ที่คุณต้องการ เพราะทั้งสองสิ่งนี้ก็มีราคาแตกต่างกันค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน
“เครื่องทำน้ำอุ่น” หรือ “เครื่องทำน้ำร้อน”
ก่อนหน้านี้เราเคยมีประสบการณ์กับ Blog ในตอน ถึงเวลาที่คนไอทีอย่างเราจะซื้อเครื่องทำน้ำอุ่นหรือยัง ? หรือหากใครอยากย้อนประวัติถึงคนคิดค้นเจ้าเครื่องเหล่านี้เป็นคนแรกเพื่อเอาไปทำรายงาน ขอบอกว่าใน Blog ตอนนี้ก็จะไม่มีให้อ่านเช่นเดียวกัน (แต่ใบ้ให้ว่าเป็น Edwin Ruud) เชื่อว่าในประเทศไทย 90% ของผู้ใช้จะเป็นในแบบแรก แต่สำหรับบ้านหลังใหญ่หน่อยหรือโครงการคอนโดใหม่ที่มีราคาสูง จะมีการแยกระบบน้ำมาจากผนังสองท่อเลย ซึ่งเหมาะกับเครื่องทำน้ำร้อนมากกว่า
เครื่องทำน้ำร้อน
โดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือแบบมีหม้อต้ม (ขนาดใหญ่) และอีกระบบคือไม่มีหม้อต้ม (ขดลวด) สำหรับรับน้ำอุณหภูมิปกติมาแล้วปล่อยน้ำออกมาทันที สามารถต่อเพื่อออกน้ำได้หลายจุด เวลาปรับอุณหภูมิสามารถทำได้ที่หน้าก็อก ด้วยการผสมน้ำร้อนและน้ำเย็นจากก็อกด้วยตัวเอง (ตามภาพด้านบน) ซึ่งเราน่าจะคุ้นเคยกันดีตามโรงแรม
- เครื่องเดียวต่อได้หลายจุด เช่น ห้องน้ำ, อ่างล้างหน้า, อ่างล้างจาน, เครื่องซักผ้า
- เหมาะกับพื้นที่หนาวมากจนน้ำอุ่นทั่วไปไม่เพียงพอ
- ควบคุมอุณหภูมิได้ยาก ตัวเครื่องปรับได้น้อย และต้องผสมน้ำด้วยตัวเอง
- กินไฟมหาศาล
- ติดตั้งลำบาก และระบบต้องรองรับ
ข้อดีอีกประการคือเหมาะสำหรับการใช้น้ำจำนวนมาก อย่างพวกอ่างอาบน้ำที่จะเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมาก และมีความร้อนที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ส่วนการติดตั้งมักจะซ่อนเอาไว้บริเวณใต้อ่างล้างจาน หรือพื้นที่มีบริเวณที่เหมาะสม
ปัญหาใหญ่ที่นอกจากราคา ดูเหมือนจะเป็นเรื่องระบบท่อที่ต้องรองรับ และมีการเตรียมท่อเพื่อผสมน้ำร้อนและน้ำเย็น เพื่อผสมออกมาแล้วทำให้ได้อุณหภูมิที่อุ่นพอดี แต่ถ้าบ้านหรือคอนโดใครเป็นโครงการใหม่ และค่อนข้างจะมีราคาหน่อยก็ไม่ต้องกังวลตรงนี้ไป ส่วนการปรับอุณหภูมิจะได้ได้เพียงแค่ 3-4 ระดับ (โดยประมาณ) เช่น ร้อนมาก, ร้อนที่สุด, ร้อนแทบลวก
เครื่องทำน้ำอุ่น
ถูกสร้างออกมาเพื่อให้มีหม้อน้ำขนาดเล็ก และสร้างอุณหภูมิได้ต่ำกว่าโดยจะไม่ถึงกับขนาดร้อนจัด ผู้ใช้จะเป็นการอาบน้ำจากฝักบัวที่ต่อจากเครื่องโดยตรง การติดตั้งสามารถทำได้งานเพียงแค่ต่อท่อไปยังเครื่องเพียงอย่างเดียว (อย่าลืมติดตั้งสายดิน!) เปิดเครื่องและควบคุมอุณหภูมิได้ค่อนข้างละเอียดมากกว่า และตัวเครื่องมีราคาค่อนข้างถูก
- ติดตั้งสะดวก ใช้งานง่าย
- ปรับอุณหภูมิได้เร็ว
- ควบคุมอุณหภูมิได้ละเอียด แต่ปรับได้ไม่ร้อนมาก
- กินไฟน้อย เปิดปิดได้บ่อยตามต้องการ
- ใช้งานได้เพียงแค่จุดเดียวต่อเครื่อง
ส่วนระบบรักษาความปลอดภัยโดยมากจะไม่แตกต่างกัน เพียงแค่ผ่านได้มาตรฐาน มอก. ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปแล้ว นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นการโฆษณาของแต่ละแบรนด์ ว่าจะเอาเทคนิคหรือคุณสมบัติไหนเพื่อมาเป็นจุดขาย
ตัวเครื่องโดยมากมีราคาถูกและหาซื้อง่าย การติดตั้งที่สะดวกเพียงแค่สูงจากพื้นประมาณ 1.6 เมตร หรืออาจมากกว่านั้นตามความสูงของผู้ใช้ แต่ข้อเสียเรื่องดีไซน์อาจลำบากหากคุณต้องการซ่อนเครื่อง เพื่อให้ดูสวยงามในห้องน้ำ รวมถึงข้อจำกัดในการต่อพ่วงก็อกหลายประเภทพร้อมกัน (ก็อกลงอ่าง, ก็อกฝักบัว, ก็อกฝักบัวแบบสายฝน) ส่วนการปรับอุณหภูมิสามารถเลือกได้ในระดับองศา
สรุป
คงสรุปไม่ได้ว่าควรซื้อแบบไหนมากที่สุด หรือกระทั่งแบบไหนดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าต้องการแบบไหนมากกว่ากัน รวมถึงข้อจำกัดทางเทคนิคอย่างระบบท่อน้ำในบ้านหรือคอนโด แต่สำหรับเมืองไทยแล้วความต้องการเรื่องน้ำร้อนคงไม่มากเท่าไหร่ (เพราะปกติก็ร้อนอยู่แล้ว) หากเพียงแค่ต้องการน้ำอุ่นไว้อาบเพียงตอนหน้าหนาวเฉย ๆ การลงทุนซื้อเพียงแค่เครื่องทำน้ำอุ่นอาจสะดวกกว่าและประหยัดกว่ามาก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว