Adobe เผยผลการศึกษาที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมุมมองของนักเรียนรุ่น Gen Z และครูในประเทศไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความพร้อมในการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ลักษณะของงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และบุคลากรมีลักษณะที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้มากขึ้น นักเรียนรุ่น Gen Z ก็รู้สึกว่าตนเองไม่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่ต้องเผชิญกับ “โลกแห่งความเป็นจริง” ในปัจจุบัน และต้องการที่จะโฟกัสเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในห้องเรียน

Adobe

ผลการศึกษาของ Adobe ที่มีชื่อว่า Gen Z ในห้องเรียน: การสร้างอนาคต (Gen Z in the Classroom: Creating the Future)
ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนรุ่น Gen Z จำนวน 250 คน อายุระหว่าง 11 ถึง 17 ปี และครู 100 คนในประเทศไทย พบว่านักเรียน 97 เปอร์เซ็นต์ และครู 99 เปอร์เซ็นต์มีความเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของนักเรียน โดยนักเรียน 75 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า อาชีพการทำงานในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ และครู 97 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่านักเรียนรุ่น Gen Z จะทำงานในอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ นักเรียนรุ่น Gen Z ยังระบุว่าพวกเขาชื่นชอบวิชาที่มุ่งเน้นคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี และวิชาเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับอนาคต

นักเรียนรุ่น Gen Z ในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยเทคโนโลยีและขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิตอลช่วยขยายโอกาสใหม่ๆ ให้แก่นักเรียนเหล่านี้ เพื่อสำรวจสิ่งที่เขาอยากรู้อยากเห็น รับแรงบันดาลใจจากคนอื่นๆ และแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้ รูปแบบการใช้งานและการเรียนรู้ของนักเรียนรุ่น Gen Z ในปัจจุบันจึงแตกต่างอย่างมากคนรุ่นก่อนๆ และนักการศึกษาของไทยจึงจำเป็นที่จะต้องจัดหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เครื่องมือที่ทันสมัย และช่องทางการสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน และเสริมสร้างทักษะด้านการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรในอนาคต

นักเรียนรุ่น Gen Z ในประเทศไทยมองว่าตนเองมีความคิดสร้างสรรค์ แตกต่างไม่ซ้ำแบบใคร
อยากรู้อยากเห็น รู้สึกตื่นเต้นเกี่ยวกับโอกาสที่รออยู่เบื้องหน้า แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับอาชีพการทำงานในอนาคต โดยเกือบหนึ่งในสามของนักเรียนรุ่น Gen Z ที่ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าตนเองขาดความพร้อมสำหรับอนาคต และกว่าครึ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้จากนอกห้องเรียนมีความสำคัญต่ออาชีพการทำงานในอนาคตมากกว่าสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียน

แม้ว่านักเรียนรุ่น Gen Z ในไทยจะมองว่าตนเองมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ (สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีการสำรวจความคิดเห็น) แต่ก็คิดว่าโดยทั่วไปแล้ว ตนเองจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยผ่านการสร้าง/ลงมือปฏิบัติ (72 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่ครูคิดว่าการให้นักเรียนได้ดูและเรียนรู้เป็นวิธีการสอนที่ดีที่สุด (77 เปอร์เซ็นต์) ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับ 77 เปอร์เซ็นต์ของนักการศึกษาที่มองหาโอกาสสำหรับการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และ 60 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการผสานรวมเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนการสอนในห้องเรียน

ในอดีต ระบบการศึกษาของไทยมุ่งเน้นที่ครูผู้สอนเป็นหลัก และแทบไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเอง
แต่ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อก้าวให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านบุคลากรในระดับโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สถานศึกษาต่างๆ รวมถึงคณาจารย์จะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิตอล เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มเพิ่มมากขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต

Thailand-Infographic__THAI-Version-(Send-Media)

ข้อมูลสำคัญจากผลการสำรวจ Gen Z ในห้องเรียน: การสร้างอนาคต มีดังนี้:

  • นักเรียน 95 เปอร์เซ็นต์ และครู 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องการให้มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น
  • นักเรียน 97 เปอร์เซ็นต์ และครู 99 เปอร์เซ็นต์ มองว่าความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในอนาคตของนักเรียน
  • นักเรียนและครู 98 เปอร์เซ็นต์ มองว่าความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญต่อความพร้อมในการประกอบอาชีพของนักเรียนในอนาคต
  • นักเรียน 75 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าอาชีพในอนาคตของตนเองจะเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์
  • ครู 97 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่านักเรียนจะประกอบอาชีพที่แปลกใหม่ซึ่งไม่มีอยู่ในปัจจุบัน
  • นักเรียน 28 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าตนเองไม่มีความพร้อมสำหรับโลกแห่งความเป็นจริง และครู 23 เปอร์เซ็นต์ก็มีความเห็นในลักษณะเดียวกัน
  • นักเรียน 72 เปอร์เซ็นต์ และครู 67 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าคนรุ่น Gen Z เรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยผ่านการสร้าง/ลงมือปฏิบัติ

สามารถดาวน์โหลดผลการศึกษา Gen Z ในห้องเรียน: การสร้างอนาคต ฉบับเต็มของ Adobe ได้ที่:

  • รายงานสำหรับประเทศไทย: http://bit.ly/2AF2Swl
  • อินโฟกราฟิกสำหรับประเทศไทย: http://bit.ly/2AFl2Ou
  • รายงานสำหรับเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) และการเปรียบเทียบ: http://bit.ly/2iQbHcx

การศึกษานี้จัดทำโดยบริษัทวิจัย Edelman Intelligence และดำเนินการสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์สำหรับนักเรียนรุ่น Gen Z จำนวน 250 คน (อายุ 11-17 ปี) และครู 100 คนที่สอนนักเรียนรุ่น Gen Z (อายุ 11-17 ปี) ในประเทศไทย การสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ดำเนินการในช่วงวันที่ 21 กันยายน – 5 ตุลาคม 2560