ทุกวันนี้การเติบโตของบริการส่งอาหารออนไลน์ หรือจะเป็นบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันก็ดี ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปัจจุบัน ส่วนผู้เล่นในตลาดที่เราคุ้นเคยกันก็จะมี Grab, LINE Man, Foodpanda และ GET ที่เป็นรายใหญ่ ในวันนี้เราจะมาลองฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ GET ที่หลายคน (รวมถึงผมเอง) ก็ต่างสงสัยมาโดยตลอด ทำไมถึงไม่มีรถยนต์ให้บริการแบบ TAXI แล้วการแข่งขันที่ดุเดือดจนเหลือค่าส่งแค่ 10 บาท ทำให้ธุรกิจส่งอาหารไม่ทำกำไรได้จริงหรือ ?

GET เปิดให้บริการในประเทศไทยวันแรก วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีเทคโนโลยีเบื้องหลังผ่าน Go-Jek แพลตฟอร์มรถอันดับหนึ่งจากอินโดนีเซีย และในวันนี้เองก็เรียกว่าใกล้จะครบ 1 ปีเต็มที (ขาดอีก 2 เดือน) โดยปัจจุบันมีการดาวน์โหลดมากกว่า 2 ล้านครั้ง เรียกได้ว่าทำลายเป้าที่ตั้งไว้เพียงแค่ 1 ล้านครั้ง ตั้งแต่ยังไม่ครบปีเลยทีเดียว

ทำไม GET ถึงไม่มีรถยนต์ให้บริการ ?

GET ถึงแม้ว่าจะมีเบื้องหลังเป็น GoJek ที่มีธุรกิจเป็นสิบอย่างตั้งแต่ย้ายบ้าน, ดูแลผู้ป่วย, ฝากซื้อของ, จ่ายบิล, ซื้อตั๋ว, นวด, ทำความสะอาดบ้าน, ล้างรถ, ซ่อมบ้าน, ซักผ้า, ฯลฯ (มีบริการเยอะแยะหลากหลายมาก) แต่สำหรับในประเทศไทย การให้บริการ GET จะมีอยู่น้อยกว่าเนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้น และแบ่งการให้บริการออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  1. เรียกรถมอไซค์
  2. สั่งอาหารออนไลน์
  3. บริการฝากส่งพัสดุ (เมสเซนเจอร์)

จะเห็นได้ว่าเป็นบริการของมอไซค์แทบทั้งสิ้น แตกต่างจากคู่แข่งที่มีการให้บริการครบเครื่องมากยิ่งกว่า มีการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคล เรียกรถ TAXI แต่การที่ GET ยังไม่เปิดให้บริการเรียกรถยนต์ พอจะมีเหตุผลอยู่หลายประการ ประการแรกก็คือการหาคนขับรถยนต์ยังเป็นเรื่องยาก และหากเทียบสถิติการให้บริการรถ 4 ล้อตกวันละ 6.5 แสนเที่ยวต่อวัน และถ้าเป็นรถ 2 ล้อตกวันละ 2 ล้านเที่ยวต่อวัน (ดังนั้นแข่งขันรถมอไซค์ดีที่สุด)

นอกจากนี้ยังติดเรื่องปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งว่ากันตามตรงบริการรถส่วนบุคคลอย่าง GrabCar ก็ยังค่อนข้างคลุมเครือจากการเอารถยนต์ส่วนตัว (ป้ายดำ) มาให้รับ-ส่งลูกค้า ถึงแม้จะมีข่าวดีว่าขนส่งเตรียมปลดล็อคกฎหมายเร็วนี้ก็ตาม GET พยายามทำทุกอย่างให้มันถูกต้อง และคำนึงถึงการเติบโตร่วมกันกับธุรกิจเดิมอย่างแท๊กซี่และวินมอไซค์ อนาคตยืนยันว่า GET จะมีให้บริการแน่นอน แต่คงยังไม่ใช่ในเร็วนี้

ธุรกิจส่งอาหาร ไม่ทำกำไรจริงหรือ ?

ไม่เพียงแค่ธุรกิจ eCommerce ที่สาดเงินใส่กันอย่าง Shopee, Lazada, JD ที่แข่งกันขาดทุน แต่ธุรกิจส่งอาหารก็เช่นกัน เพราะคนสั่งซื้อเองก็อยากได้ค่าส่งที่ถูก อย่างล่าสุดเหลือค่าส่งเพียงแค่ 10 บาท (ที่เหลือบริษัทจ่ายให้คนขับอีกที) ตรงนี้ทาง GET ยืนยันว่า “ทุกแบรนด์ในไทยยังไม่มีใครกำไร” แต่เชื่อว่าด้วยปริมาณฐานลูกค้าและการใช้งานมหาศาล จะทำให้อนาคตมีกำไรอย่างแน่นอน สำหรับโมเดลการหาเงินจะมาจาก

  1. ค่าขนส่งที่ลูกค้าจ่าย (เล็กน้อย)
  2. ส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากร้านอาหาร
  3. รายได้การทำโปรโมชันหรือโฆษณา

ธุุรกิจส่งอาหารเป็นธุรกิจที่กำไรน้อยถึงน้อยมาก ดังนั้นจะให้เห็นเงินเป็นรูปเป็นร่างต้องพึ่งการเน้นปริมาณ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ได้เพิ่มมาเป็น Data ของลูกค้า ว่าคนไหนชอบกินอะไร งบประมาณการสั่ง หรือสามารถเพิ่มชุดโปรโมชันอะไรได้อีกมั้ย การที่พาร์ทเนอร์มาเข้าร่วมจะใช้ Data พวกนี้ในการวิเคราะห์ว่า หากไปเปิดสาขาตรงไหนมีโอกาสขายเพิ่มได้ ดีกว่าการเปิดสาขาโดยที่ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

GET อยู่ลำดับที่เท่าไหร่ของตลาด ?

ข้อมูลตัวเลขตรงนี้ค่อนข้างคลุมเครือ ยังไม่มีใครเปิดตัวเลขอย่างจริงจัง รวมถึงตัวเลขมันอาจบิดพลิ้วได้เยอะ ยกตัวอย่างเช่น อัตราการเรียกเยอะสุด อันนี้ในนับทั้งไทยหรือเฉพาะกรุงเทพฯ รวมถึงจำนวนการเรียก xx ล้านครั้ง นับรวมจำนวนการเรียกที่สำเร็จนับไหม ? หากเรียกแล้วไม่สำเร็จนับด้วยไหม ? เมื่อแต่ละแบรนด์ใช้ตัวชี้วัดต่างกันจึงค่อนข้างนิยามได้ยาก

แต่หากมองแค่แข่งกับตัวเองตรงนี้ GET มีข้อมูลคนขับปลายปีราว 40,000 คน (ก่อนหน้ามีประมาณ 10,000 คน) มียอดการสั่งซื้อครบ 10 ล้านรายการในเดือนตุลาคม โดยตัวเลขนี้นับเฉพาะ “คำสั่งซื้อที่สำเร็จ” และหากวัดด้านคุณภาพก็มีระยะเวลาส่งเฉลี่ย 28 นาที ผลความพึงพอใจของลูกค้า 97% ประทับใจ และร้านค้าพาร์ทเนอร์มียอดโตขึ้นถึง 5 เท่า

แผนในปี 2020 คืออะไร ?

ในปี 2019 แผนก็คือการหาฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด (ซึ่งก็ทะลุเป้าไปเป็นที่เรียบร้อย) และสำหรับปีหน้า 2020 จะเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้ใช้บริการจะต้องเข้า App มาแบบถี่มากยิ่งขึ้น สร้างสังคมคนขับที่แข็งแกร่ง และมีการเพิ่มร้านอาหารที่หลากหลายในพื้นที่ให้บริการ คนขับอยู่ได้-ร้านค้าอยู่ได้-ผู้ให้บริการอยู่ได้ และลูกค้าก็ประทับใจที่จะสั่งซ้ำ

นอกจากนี้คำถามยอดฮิตอย่าง ทำไม GET ไม่รับบัตรเครดิต อันนี้เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายเหลือเกิน เพราะไม่กี่ปีก่อนคนไทย Cash is King แต่ปัจจุบันกลายเป็น Cashless is Better ดังนั้นเตรียมตัวพบกับ GET Pay ในเร็วนี้! ส่วนการให้บริการแบบเดินอย่าง GET Runner ตอนนี้อยู่ในช่วงทดสอบ และเป็นที่น่าพึงพอใจเหลือเพียง 19 นาที

นอกจากนี้ในส่วนของคนขับและร้านค้า ก็จะมีแอปพลิเคชันใหม่ที่สะดวกใช้งานมากยิ่งขึ้น ได้อาหารเร็วมากขึ้น รวมถึงจะได้เทคโนโลยีจาก GoJek ที่มีคนใช้กว่าเดือนละ 300 ล้านคน มาช่วยในการปรับปรุงระบบหลังบ้านให้ดีขึ้น และกลายเป็นแอปพลิเคชันระดับโลกที่สามารถในประเทศอื่นได้ (แบบเดียวกับ Uber หรือ Grab) และมีความเสถียรในการใช้งาน