Dell Latitude 7350 เป็นอุปกรณ์ประเภทแท็บเล็ทและโน๊ตบุ๊คในตัวเดียว (Hybrid) ซึ่งทางทีมงาน iReview.in.th เคยได้มีโอกาสสัมผัสไปเมื่อต้นปีในงาน #‎DellEUCShow‬ ในวันนี้เครื่องก็ได้มาถึงมือทีมงานแล้ว จึงขอนำมารีวิวให้ได้ชมกันตามธรรมเนียมครับ

Review - Dell Latitude 7350 (1)

สเปคและราคา Dell Latitude 7350

Dell Latitude 7350 มาพร้อมหน้าจอขนาด 13 นิ้ว (รองรับระบบสัมผัส) ความคมชัดระดับ Full HD (1920 × 1080) ประมวลผลด้วย Intel Core M ที่กินไฟน้อยลงและไม่ใช้พัดลมเหมือนกับ MacBook พร้อมแรมที่สูงถึง 4 GB ตัวคีย์บอร์ดสามารถแยกออกจากหน้าจอได้ และมีสว่างใต้ปุ่ม (Backlit Keyboard)

  • หน้าจอ 13.3″ IPS 1920 x 1080 มัลติทัช 10 จุด
  • หน่วยประมวลผล Core M หรือ Core M vPro
  • ใส่แรมได้สูงสุด 8 GB, SSD สูงสุด 512 GB
  • USB 3.0 x 2, SD Card Reader, Display Port
  • Windows 8.1 หรือ Windows 8.1 Pro
  • น้ำหนักรวมคีย์บอร์ดแล้วประมาณ 1.6 กิโลกรัม

ราคาเริ่มต้นที่ 3x,xxx บาท (ขึ้นอยู่กับสเปคที่เลือกใช้)

Review - Dell Latitude 7350 (2)

ตัวเครื่องของ Dell Latitude 7350 ชัดเจนเลยว่าออกแบบมาเป็น 2-in-1 เหมาะสำหรับคนที่อยากได้ Tablet และ Notebook ภายในตัวเดียวกัน เหมาะสำหรับใช้นำเสนอหรือการทำงานที่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย

Review - Dell Latitude 7350 (3)

ปุ่มเปิดเครื่องและปุ่มปรับเสียงอยู่ด้านข้าง ให้อารมณ์ความเป็น Tablet มากเลยทีเดียว (ถึงแม้ว่าจะมีน้ำหนักมากไปนิดก็ตาม) วัสดุและงานประกอบทำออกมาได้ค่อนข้างแข็งแรงตามสไตล์ของ Dell

Review - Dell Latitude 7350 (4)

ด้านหลังจะเป็นพวกพอร์ตต่าง ๆ รวมถึง Mini DisplayPort (มีหัวต่อแถมให้) แต่ถ้าใครอยากนำเสนอแบบไร้สายตัวนี้ก็เป็น Intel Pro WiDi ในตัวมาให้เลย

Review - Dell Latitude 7350 (5)

ด้านข้างอีกฝั่งจะเป็นแบบเรียบ ๆ และมีเพียงแค่ช่องเสียงหูฟังพร้อมไมค์ในตัว

Review - Dell Latitude 7350 (6)

ด้านท้ายเครื่องไม่มีอะไรให้แกะ เนื่องจากทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผล, แรม, หน่วยความจำและแบตเตอรี่ ต่างไปรวมอยู่บริเวณหน้าจอหมดแล้ว

Review - Dell Latitude 7350 (7)

มองจากมุมด้านข้างของเครื่องจะกางได้ราว 120 องศา ตัวฐานที่เป็น Dock ค่อนข้างบางแต่ก็ให้ความรู้สึกที่แข็งแรง

Review - Dell Latitude 7350 (8)

ทั้งสองฝั่งของหน้าจอจะเป็นขาล็อค ให้ความรู้สึกที่แข็งแรงเป็นอย่างยิ่ง (แต่เวลาปลดล็อคดึงแค่ฝั่งซ้ายฝั่งเดียว) คีย์บอร์ดขนาดใหญ่ปุ่มแยกอิสระต่อกัน สามารถพิมพ์ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว นอกจากนี้ก็มี Touchpad ที่มีขนาดใหญ่รวมคลิกซ้ายและขวาไว้ในตัวเดียวกัน

Review - Dell Latitude 7350 (9)

หากต้องการใช้งานเป็น Tablet ก็สามารถแยกหน้าจอออกมา (ตรงนี้มีน้ำหนักพอควรเลย) สามารถพลิกหน้าจอได้โดยอัตโนมัติ หน่วยประมวลผลเป็น Intel Core M รหัส 5Y10 ความเร็ว 0.8 GHz (เร่งความเร็วสูงสุด 2.0 GHz) ใส้ภายในเป็น SSD M.2 (Samsung) ส่วนการ์ดจอออนบอร์ดที่แรงพอตัว Intel HD Graphic 5300

นอกจากนี้ระบบไร้สายยังเป็น Intel Dual Band Wireless-AC 7265 802.11AC Wi-Fi + BT 4.0 LE ใช้ได้ทั้งสองย่านความถี่ (2.5 GHz, 5.0 Ghz) เรียกได้ว่าอะไรแรง ๆ ที่เคยอยู่บน Mac มีอยู่ใน Dell เครื่องนี้เกือบทั้งหมด

Review - Dell Latitude 7350 (10)

Adapter สำหรับชาร์จไฟก็มีขนาดเล็กเหมาะกับการพกพา แถมสามารถพันสายเข้ากับตัวเองได้อีกด้วย

Dell - Latitude 7350 Benchmark (1)
ขนาดหน้าจอ Dell Latitude 7350 สัดส่วนจากโรงงาน

บางคนอาจกังวลเรื่องความละเอียดหน้าจอ 1080P (Full HD) บนหน้าจอเล็กขนาด 13 นิ้ว จะทำให้พวกไอค่อนมีขนาดเล็กจนไม่สามารถสัมผัสได้ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิดเพราะ Windows 8.1 (หรืออาจเป็นเพราะ Dell เอง?) มีการปรับขยายไอค่อนให้มีขนาดเหมาะสมตาม

Dell - Latitude 7350 Benchmark (2)
ขนาดหน้าจอ Dell Latitude 7350 สัดส่วนแบบ 1:1

แต่ถ้าใครต้องการพื้นที่การทำงานแบบเยอะ ๆ และสมจริงก็สามารถปรับค่าได้ครับ อันนี้จะได้ 1080P แบบแท้ ๆ เลย แต่สำหรับการใช้งานระบบสัมผัสอาจไม่ค่อยสะดวกเล็กน้อย

Dell - Latitude 7350 Benchmark (3)
CPU

หน่วยประมวลผล Core M บางคนอาจกังวลว่ามันจะช้า แต่ด้วยพลังของ 2 Cores, 4 Threads ก็สามารถใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี ไม่ถือว่าแรงหรือช้าอาจอยู่ในลำดับกลาง ๆ เพียงพอกับการใช้งานทั่วไปมากกว่า

Dell - Latitude 7350 Benchmark (4)
SSD

SSD M.2 (Samsung) อันนี้ตัวแรงของแท้มีความเร็วเฉลี่ย 205.5 MB/s และ Access Time เพียงแค่ 0.192 ms ทำให้เรียกโปรแกรมและใช้งานได้อย่างทันใจ แถมเมื่อรวมเข้ากับ Windows 8.1 ทำให้เหลือเวลาเปิดเครื่องเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น

Dell - Latitude 7350 Benchmark (5)

Core M สามารถทำงานได้ดีขนาดไหน

เท่าที่ได้ทดสอบถึงแม้ว่าแรก ๆ จะยังหวั่น ๆ อยู่ก็ตาม แต่ตลอดเวลาทดสอบ 15 วัน ก็สามารถใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการท่องเน็ตหรือทำงานสำนักงาน นอกจากนี้ยังสามารถเล่นหนัง 4K (ดังภาพ) ได้อย่างไม่มีปัญหา แถมยังช่วยยืดระยะเวลาของแบตเตอรี่ได้อีก 20% ตามข้อมูลที่ Intel เคยได้ให้ไว้

ข้อดี

  1. วัสดุและงานออกแบบดี
  2. แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ยาวนาน
  3. SSD ทำงานได้เร็วมาก
  4. ประกันแบบ On-Site Service ของ Dell

ข้อเสีย

  1. ราคาค่อนข้างสูง
  2. การใช้งานหลักยังต้องผ่าน Keyboard

สรุป

ด้วยบริการหลังการขายแบบพรีเมี่ยม รวมถึงงานประกอบที่ดีใช้วัสดุแมกนีเซียมอัลลอยที่ให้น้ำหนักเบาและแข็งแรง เหมาะสำหรับคนที่ใช้งานนำเสนอหรือความคล่องตัวในการทำงาน