เรียกได้ว่าสามารถสร้างความตกใจกันไปทั่วโลกเลยทีเดียว สำหรับการรั่วไหลของข้อมูลบนโลกออนไลน์จากบั๊กที่มีชื่อว่า Heartbleed หรือ ฮาร์ทบลีด ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงข้อมูล หรือรหัสในการทำธุรกรรมออนไลน์ได้ตั้งแต่ธนาคาร อีเมล ไปถึงเว็บสังคมออนไลน์ต่างๆ

ซึ่งจากรายงานที่ทั่วโลกได้ประกาศมานั้น บั๊กตัวนี้ใช้ช่องโหว่จากการเข้ารหัสของโปรแกรม open source ที่มีชื่อว่า OpenSSL ซึ่งเว็บไซต์ชั้นนำหลายแห่งของโลกใช้งานอยู่ ดังนั้นคุณเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในลูกค้าของเหล่าเว็บไซต์ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ด้วย

Higher-Security_2

อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องตกใจจนเกินไป เพราะว่าเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ได้ออกมายืนยันแล้วว่าได้ทำการอัพเกรดและปิดช่องโหว่ดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้นผู้ใช้งานควรที่จะเข้าไปเปลี่ยนรหัสการเข้าใช้งานโดยเร็วเพื่อความปลอดภัยที่สูงขึ้น ซึ่งจะว่าไปก็เป็นสิ่งที่ดีที่ควรจะทำทุกๆ 2-3 เดือนอยู่แล้ว แม้จะไม่มีบั๊กตัวนี้ก็ตาม

การที่ทั้งโลกตื่นตัวเรื่องนี้กันมาก สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องของความเป็นส่วนตัวและอันตรายจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่จ้องจะขโมยข้อมูลออนไลน์ได้  ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกด้านบริการซอฟต์แวร์และโซลูชั่น ได้คอยตอกย้ำมาตลอดอย่างสม่ำเสมอว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด และผู้บริโภคเองต้องคอยระมัดระวังตัวอยู่เสมอ เมื่อคุณป้องกันตัวเองจากฮาร์ทบลีด ซึ่งเป็นบั๊กที่เกิดจากช่องโหว่ของเว็บไซต์ได้แล้ว ต้องอย่าลืมที่จะอุดช่องโหว่ในเครื่องของคุณเองด้วย เพราะว่ายังมีอันตรายอื่นๆที่จ้องจะเข้าถึงและขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่อีกมากมาย โดยจำแนกได้เป็นประเภทดังนี้

  • มัลแวร์ (Malware)
    คือซอฟต์แวร์ที่ถูกใช้หรือสร้างขึ้นโดยผู้ไม่หวังดี เพื่อทำลายระบบคอมพิวเตอร์ และขโมยข้อมูลสำคัญในเครื่องหรือหาทางเจาะเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน
  • โทรจัน ฮอร์ส (Trojan Horse)
    คือมัลแวร์ชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถทำสำเนาตัวเองได้ ซึ่งอาจจะดูไม่เป็นอันตราย แต่มันสามารถที่จะเจาะเข้าไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานและสร้างความเสียหายได้
  • สปายแวร์ (Spyware)
    คือมัลแวร์ที่ลักลอบเก็บข้อมูลส่วนบุคคลหรือองค์กร แล้วทำการส่งต่อข้อมูลเหล่านั้น ไปยังที่อื่นโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้ตัว
  • ไวรัสคอมพิวเตอร์ (Virus)
    เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำสำเนาตัวเองได้และแพร่กระจายไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น สร้างความเสียหายในวงกว้าง

Higher-Security_1

มัลแวร์เหล่านี้สามารถเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ได้หลายช่องทาง แต่จากการวิจัยล่าสุดของ ไอดีซี และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ในปี 2557 นี้พบว่าช่องทางที่มีอัตราของการแพร่มัลแวร์สูงสุดคือการที่ผู้ใช้ติดตั้งหรือดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เถื่อนมาใช้งาน เพราะว่าระบบรักษาความปลอดภัยในโปรแกรมเหล่านั้นจะถูกปิด และทำให้ไม่สามารถทำการตรวจจับมัลแวร์ได้ ต่างจากซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการ Windows 8.1 ของแท้ที่มาพร้อมกับ Microsoft Windows Defender ที่สามารถตรวจจับและกำจัด ไวรัส สปายแวร์ และมัลแวร์ได้ทันที ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องเป็นกังวลถึงความปลอดภัย หรือการที่ข้อมูลส่วนตัวจะถูกขโมยได้

ต้องยอมรับว่า  ทุกวันนี้เราเลี่ยงการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะใช้งานด้วยความความมั่นใจได้สูงสุดโดยหมั่นเปลี่ยนรหัสในการทำธุรกรรมออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อเห็นแล้วว่าเว็บไซต์ต่างๆ มีการลงทุนเพื่อปิดช่องโหว่ของระบบแล้ว ผู้ใช้งานเองก็ต้องไม่ลืมที่จะปิดช่องโหว่ในเครื่องที่ใช้งานของตนเองด้วยเช่นกัน โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานซอฟต์แวร์เถื่อน ซึ่งนับเป็นเครื่องมือในการกระจายมัลแวร์และขโมยข้อมูลของผู้ใช้งานที่อันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นผู้ใช้งานจึงควรเปิดให้เครื่องอัพเดทโปรแกรมตรวจจับมัลแวร์ต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุดนั่นเอง